‘หมอกิตติ’ เผย กัญชา 6 ต้น ขอปลูกได้ที่ รพ.สต. ชวนมองมุมต่าง สร้างคุณค่าเศรษฐกิจจากปลายน้ำ

‘นพ.กิตติ’ เผย กัญชา 6 ต้น ขอปลูกได้ที่ รพ.สต. ชวนมองมุมต่าง สร้างคุณค่า ศก.จากปลายน้ำ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 มีนาคม ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ในงาน “กัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่าวบรรยายบนเวทีห้องสัมมนาใหญ่ ในหัวข้อ “บ้านละ 6 ต้น ฝันที่เป็นจริง” ท่ามกลางประชาชน เกษตรกร และหน่วยงานราชการ ร่วมฟังการบรรยายอย่างคับคั่งภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19

นพ.กิตติกล่าวถึงการทำงานร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย องค์การอาหารและยา (อย.) และสถาบันทางการแพทย์ โดยกรมการแพทย์แผนไทยเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนกัญชา มีการประชุมเดือนละ 2 ครั้ง ทั้ง กระทรวง ทบวง กรม ขับเคลื่อนร่วมกันในทิศทางเดียวกัน เห็นหลายอย่างเกิดขึ้นจากการปลดล็อก ใบราก และลำต้น ให้กับผู้ประกอบการ ร้านอาหาร มีการคุยกันให้พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจที่ชัดเจน และใช้ประโยชน์ได้

นพ.กิตติกล่าวว่า บทบาทภารกิจของกรมการแพทย์แผนไทยคือการเป็นศูนย์กลางนโยบายความร่วมมือหลัก ทำหน้าที่เชื่อมประสานกับนิติบุคคล กระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษาธิการ และกำลังจะไปร่วมมือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม เพราะเราขับคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกะนขับเคลื่อน ซึ่งความจริงมี 2 เฟสหลัก ช่วงแรก คือ กัญชาด้านการแพทย์ เราพยายามเอากัญชาเข้า รพ.ภาครัฐให้มากที่สุด เนื่องจากในปีแรกที่เริ่มผลักดัน หลายคนมองว่าชักช้า แต่ขอให้ไปดูประวัติศาสตร์ประเทศอื่น ซึ่งใช้เวลาหลายสิบปี เพราะมีทั้งกลุ่มต้านและสนับสนุน แต่ของไทย แค่ 1 ปีครึ่ง ก็สามารถขับเคลื่อนได้แล้ว

Advertisement

นพ.กิตติกล่าวต่อว่า ถ้าประชาชนอยากปลูก 6 ต้นต้องทำอย่างไร สมัยก่อน กรมการแพทย์แผนไทยทำกัญชาตั้งแต่เป็นสมัยพันลำ เพราะตอนนั้นยังไม่มีการจัดงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยังไม่มียา จึงหันมาหา รพ.คูเมือง คุยกันว่าสามารถทำที่นี่ได้ เป็นภารกิจตั้งแต่เวลานั้นมีการออกผลิตภัณฑ์มากมายคู่กับ วิสาหกิจชุมชน เพลา เพลิน มียาศุขไสยาศน์ ซึ่งขณะนี้กระจายไปทั่วไปแล้ว

“อยากให้มอง ต้น กลาง และปลายน้ำ วันนี้ขออนุญาตไม่พูดถึงการแพทย์ แต่ขอพูดด้านเศรษฐกิจ ข้อแรก 1.ทุกคนอยากปลูกหมด ซึ่งคุณค่าของกัญชากัญชง มี 3 ส่วน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

ต้นน้ำ ไปเล่นที่สารสำคัญ ในอนาคตอาจจะมีคนทำหน้าที่ขายต้นกล้า ถามว่าอยากปลูก 6 ต้น เอาเมล็ดจากไหน อีกไม่นานเราจะมีกลุ่มหนึ่ง ที่ขายเมล็ด ขายต้นกล้า ซึ่งท่านจะได้เห็น ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยมีการเตรียมการไว้แล้ว ทั้งคนที่จะมาพัฒนาด้านแหล่งต้นกล้า และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการเตรียมพร้อมนั้นสำคัญมาก แต่เวลานี้เราสามารถปลดล็อก ราก ลำต้น และใบ ได้แล้ว” นพ.กิตติกล่าว

โดย ประชาชนปรบมือให้

นพ.กิตติกล่าวต่อว่า ในส่วนของ กลางน้ำ บางคนใช้แอลกอฮอล์สกัดธรรมดา บางที่สกัดแบบร้อนหรือเย็น ซึ่งสุดท้ายคนที่สกัดได้มากสุดจะได้กำไรสูงสุด เริ่มเล่นเรื่องเหล่านี้แล้ว บางเจ้าไม่แข่งตรงนั้น แต่ไปทำโอท็อปของตัวเอง จึงต้องมองตำแหน่งของสายธารให้เจอ สามารถเล่นได้หมด แต่สุดท้าย ปลายน้ำ สำคัญมาก เราจะหามูลค่าอย่างไร จาก ใบ ราก ลำต้น ซึ่งตอนนี้ราคาเดิมจาก 5,000 บาท ปั่นมาถึง 15,000 บาทแล้ว

“อย่าไปใส่ใจการปลูกมากนัก คุณค่าสุดท้าย อยู่ตรงที่จิ้งหรีดขาย 30 บาท ใส่กัญชาเพิ่มมา 60 บาท เพิ่มเป็นเท่าตัว หรือน้ำอ้อย ท่านจะเริ่มได้กินอาหารหลายชนิด บางที่กลิ่นเหม็นมาก บางคนไม่ชอบ เพราะเทอร์พีนไม่เหมือนกัน บางคนก็กลิ่นเลม่อน กลิ่นมะม่วง คาดเดาได้เลยว่าการเอาใบใส่กัญชาที่ตอนนี้ขายได้หมด แต่ต่อไปจะไม่ใช่ อยู่ที่ใครทำอร่อยที่สุด (ภาคบริโภค) ไปจนถึงภาคส่งออก บางแห่งมีธุรกิจ โรงแรม อาหาร และการปลูก มองให้ถึงตรงนี้ด้วยจะดีมาก คนจะ สร้างมูลค่าได้มากที่สุดคือปลายทาง ถ้าหากมีเชฟเก่งๆ

“ที่อยากให้เห็นภาพคือ การออกแบบ Ecosystem ซึ่งกัญชาไม่ได้มีคุณค่าแค่กัญชา ผมอาจจะไปเลี้ยงแลงนักล่า (predators) เลี้ยงตัวห้ำ หรือขายกระถาง น้ำ ปุ๋ย ดิน ไม่ต้องยุ่งกับยาเสพติด ซึ่งตอนนี้มีคนทำแพคเกจสมาร์ทฟาร์มแล้ว มีแพคเกจมีสามารถซื้อไปปลูกได้เลย จะเห็นว่าอาชีพใหม่เกิดขึ้นหลายอย่าง

“คนปลูกเก่ง ก็มีการสอนปลูก ทำคอร์สเรียน คลื่นต่อไป คือเมื่อไหร่ที่ อย.กำหนดสเปกของอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอางว่าต้องมีสารสำคัญเท่าไหร่ที่จะจ่ายได้ คือ ‘แลปตรวจสารสำคัญ’ ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่แค่กัญชา แค่มีอีโคซิสเต็ม อยู่ที่ว่าจะหาโอกาสได้หรือไม่ วิสาหกิจชุมชน ทำหน้าที่เพาะเมล็ดและต้นกล้าขาย อยากได้ตัวผู้-เมีย ทำได้หมด ส่งออกนอก ไป รพ.ของรัฐที่ใช้ดอกกัญชา ช่วงใบ ภาคเอกชนสามารถรับใบไปผลิตได้ แต่ตอนนี้มีราคาสูง ต้องรอสักพักราคาจะเริ่มลดลง ช่วงนี้น่าจะผลิตยาก เพราะใบกิโลละหมื่น ผลิตยาออกมาจะราคาเท่าไหร่” นพ.กิตติกล่าว

นพ.กิตติกล่าวต่อว่า ไม่ได้มีเฉพาะกัญชา แต่ยังมีสิ่งรอบตัวที่สามารถสร้างมูลค่าได้ทั้งหมด เช่น ถ้าจังหวัดบุรีรัมย์ทำ 6 ต้นทั้งหมด จะต้องเจอปัญหาแมลงและดินอย่างแน่นอน เราอาจจะขายกระถาง แถมดิน อย่ามองแค่ส่วนของกัญชาบางคนขายอย่างนี้ดีกว่าเพราะไม่ต้องเสี่ยงในการควบคุมกำกับ

นพ.กิตติกล่าวว่า เราทำไปหลายข้อแล้ว ถามว่าข้าราชการทำอะไรอยู่ เราทำทุกวัน ไป กทม.ประชุมตลอด แต่ภาคราชการต้องขับเคลื่อนด้วยกฎหมาย ใช้คำว่า “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” ไม่ได้ ให้ใช้คนเก็บ กับคนกระจาย ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์ฯกำลังพัฒนาสายพันธุ์ให้เราอยู่ ส่วนการส่งออกคือโจทย์ต่อไป


“เรื่องของการแบ่งเขต (Zoning) กัญชา กัญชง ข้างบ้านปลูกกัญชา จะข้ามสายพันธุ์กัน ต้องระวังถ้าจะปลูก บางทีเกสรลอยไกลเป็น 10 กิโลเมตร บางคนเอาต้นตัวเมียมา มีคนเอาต้นกะเทยมาวางใกล้ๆ พอกลับไป ออกดอก มีเมล็ด สารสำคัญร่วงออกมา เป็นต้น”
นพ.กิตติกล่าว

นพ.กิตติกล่าวต่อว่า เรื่องของ 6 ต้น วิสาหกิจชุมชน สามารถไปคุยกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และแพทย์แผนไทย เพื่อปลูกและส่งขายได้ ส่วนระหว่างที่ปลูก ใบ ราก ลำต้น ซึ่งปลดล็อกแล้วก็สามารถนำไปทำผลิตภัณท์ ช่อดอกส่งไป รพ.สต.ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งส่งไป รพ.ภาครัฐ

“ต้องเข้าใจว่าภาครัฐไม่มีสิทธิแข่งกับเอกชน แต่ดันให้รัฐดูแลกำกับ จึงติดปัญหาตรงนี้ ต้องค่อยๆ ปลดไปทีละระดับว่ามีความกังวลเรื่องอะไร แล้วค่อยๆ เดินไป อย่างวันนี้ก็พยายามดึงข้อมูลคนไข้ที่ใช้ยากัญชาว่ามีปัญหาทางจิตเวชกี่คน เพราะแพทย์ใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อน ซึ่งข้อกังวล จากทุกแห่งตรงกัน คือมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงเท่านั้น หากใช้ภายใต้การกำกับของแพทย์” นพ.กิตติกล่าว

ถามว่า ทำไมต้องเป็น 6 ต้น นพ.กิตติกล่าวว่า เป็นเรื่องของโมเดล แต่มีตัวแปรหนึ่งที่สำคัญคือทำให้ต้นทุนถูก เพราะโรงเรือนเป็นบ้าน จึงต้องดูว่าชาวบ้านจะเข้าถึงได้อย่างไร ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ความจริงอาจจะปลูก 10 ต้นก็ได้ 6 ต้นนั้น เป็นเพียงโมเดลรองรับงานวิจัยที่ รพ.คูเมือง ทำกับ “เพลา เพลิน” ซึ่งต้องทำอย่างแน่นหนา มีกล้องวงจรปิด เก็บข้อมูลตลอด 1 ปี ตลอดเวลา ปิดกล้องวงจรปิด ถึงขั้นต้องใช้ 30-40 ลูก

นพ.กิตติกล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญที่สุด อยากฝากว่า วิสาหกิจชุมชนปลูกทั้งหมด แต่ส่งช่อดอกให้ รพ.คูเมือง และ รพ.สต.จะส่งให้ผู้ป่วย สำคัญคือท่านเอาใบรากต้นมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยการกลับไปดูว่าธุรกิจเดิมท่านทำอะไร เลี้ยงตั๊กแตน ปลูกข้าว ร้านอาหาร ทำโรงแรม ลองคิดโจทย์ว่าจะเอาสิ่งนี้ไปเพิ่มมูลค่าอย่างไร จิ้งหรีดทอดลั้นลา น้ำอ้อยหรรษา อย่างจิ้งหรีดในงานวันนี้ก็ขายหมด น้ำอ้อยไม่มีเหลือ ถ้าท่านมองธุรกิจแบบนี้ สร้างมูลค่าได้จากตรงนี้ ลองคิดดูภาพรวม ถ้าใครไม่อยากเสี่ยง 6 ต้น เลี้ยงแมลงห้ำที่กินแมลงด้วยกัน เวลาเกิดเพลี้ยไฟ จะคุมได้ยาก

“โมเดล 6 ต้น ที่โนนมาลัย 3 หมู่บ้าน 7 หลังคาเรือน แต่ละบ้านทำโมเดลรั้วไม้ ลงทุน 1,000-2,000 ลงทุน 6 ต้นก่อน เนื่องจากเป็นงานวิจัยระยะแรก จะมีการนำกระถางดิน 3 รูปแบบมาเทียบกัน เช่น ระหว่าง ดินบ้านๆ กับ ดินภูเขาไฟ ที่มีแร่ธาตุเยอะ อาจจะรสชาติกลมกล่อม เป็นต้น

“ทั้งนี้ ดินบางแห่งมีปัญหาคือ น้ำไหลมาจากหมู่บ้านอื่น มาปนเปื้อน ก็ใช้ทำยาไม่ได้ ต้องผลิตยาให้คนไข้ จึงมียาฆ่าแมลง บางคนจึงขายที่ดิน ที่ไม่มีสารปนเปื้อน เป็นต้น อยู่ที่ว่าท่านมองอนาคตธุรกิจอย่างไรบ้าง

“ถามว่า ทำไมต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน กุศโลบายคืออยากให้ชาวบ้านกำกับกัน ถ้าอยากปลูกคนเดียวสามารถไปปลูกกัญชงได้ แต่วันนี้ขอเป็นกัญชา เนื่องจากหลายพันธุ์ในต่างประเทศสาร THC สูง แต่ส่วนที่มีสาร THC น้อย ก็จะให้หน่วยงานรัฐกำกับ

“จะปลูก 6 ต้น ต้องมีวิสาหกิจชุมชน สามารถทำต้นกล้าให้ที่อื่นไปปลูกได้ อย่างไรก็ดี ดอกกัญชาต้องใช้เฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น” นพ.กิตติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image