หมอยง ไขข้อสงสัย เหตุผล ภาคเอกชนยังไม่สามารถนำเข้า ‘วัคซีนโควิด 19’ ได้

หมอยง ไขข้อสงสัย เหตุผล ภาคเอกชนยังไม่สามารถนำเข้า ‘วัคซีนโควิด 19’ ได้

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุถึงการนำเข้าวัคซีนของเอกชน ว่า

“วัคซีนโควิด-19 มีคนถามมามากมายทำไมไม่ให้เอกชนนำเข้า

ต้องเรียนว่าวัคซีนโควิดในปัจจุบัน ทั่วโลกจะขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน EUA (Emergency Use Authorization) เกือบทั้งหมด ดังนั้นการใช้ในแต่ละประเทศ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องรับผิดชอบเอง บริษัทผู้ผลิตจึงจะไม่เจรจากับภาคเอกชนและไม่เข้ามารับผิดชอบร่วมด้วยในกรณีที่เกิดมีอาการแทรกซ้อนหรืออาการไม่พึงประสงค์

การส่งมาจำหน่ายในต่างประเทศส่วนใหญ่จึงต้องการติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น ภาคเอกชนเมื่อติดต่อกับบริษัทผู้ผลิต บริษัทจะไม่ติดต่อด้วยจะต้องได้รับการรับรอง ร้องขอ หรือสั่งจองจากภาครัฐ หรือตัวแทนภาครัฐเช่น องค์การเภสัช หรือหน่วยงานอื่น ที่ภาครัฐมอบหมายเท่านั้น วัคซีนหลายบริษัทขณะนี้อยากขายเพราะได้ราคาดีมาก

Advertisement

ในอนาคตหลังจากที่ประเทศทางตะวันตกได้ให้วัคซีนกับประเทศของตัวเองมากพอแล้ว วัคซีนก็จะเริ่มล้นและบริษัทก็ต้องการจะขายเอากำไร อย่างในอเมริกาตั้งเป้าการฉีดให้ได้ตามเป้าหมายภายในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นปริมาณการใช้วัคซีนก็จะลดลง บริษัทที่ผลิตถึง 3 บริษัทก็ต้องการส่งออกหรือขายนั่นเอง

ดังนั้น ตามหลักความจริงแล้วภาคเอกชนจะไม่สามารถที่จะนำเข้ามาได้เลย ถึงแม้จะเป็นตัวแทนให้ทางบริษัทมาขึ้นทะเบียนกับ อย.ทางบริษัทจะไม่สนใจ ที่จะมาขึ้นทะเบียนถ้าภาครัฐไม่ร้องขอ บริษัทจะต้องการหนังสือรับรองแสดงเจตจำนง (Letter of Intent, LOI) จากทางภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น จนกว่าในอนาคตที่ได้ขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบและรับประกันความผิดชอบแล้ว ภาคเอกชนจึงจะสามารถนำเข้ามาได้ หรือนำมาขึ้นทะเบียนได้ อย่างวัคซีนหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่อยู่นอกแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ เช่นวัคซีนผู้ใหญ่ป้องกันปอดบวม วัคซีนเด็ก 5 โรค 6 โรค เพราะใช้ในยามปกติอยู่แล้วและขึ้นทะเบียนได้ในภาวะปกติ

ทางออกที่จะให้ภาคเอกชนได้ร่วมจัดซื้อ ลงทุน หรือบริการวัคซีนช่วยภาครัฐได้ โดยเฉพาะพวกนายทุนใหญ่ๆ ที่ส่งฝากถามผมมา ภาคเอกชนจะต้องรวมตัวกันเจรจากับภาครัฐและทางฝ่ายรัฐ หรือตัวแทนภาครัฐจะต้องเป็นคนเจรจากับบริษัทวัคซีน จะต้องรับรองหรือมีเงินกองทุนรับผิดชอบ

Advertisement

กรณีมีปัญหาของวัคซีนเช่นอาการไม่พึงประสงค์ เพราะถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาครัฐ ภาครัฐจะต้องออกหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent, LOI) หนังสือนี้จะต้องเป็นของภาครัฐหรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น แสดงเจตนาต่อคู่สัญญาก่อนที่จะเซ็นสัญญาร่วมกัน ถ้าไม่มีหนังสือแสดงเจตจำนง บริษัทวัคซีนต่างๆก็จะไม่มาขึ้นทะเบียนก็เป็นไปไม่ได้ที่ภาคเอกชนจะนำเข้ามา

โดยหลักการแล้ว บริษัทใหญ่ๆ นายทุนใหญ่ๆ ก็อยากจะช่วยเหลือภาครัฐนำเข้าวัคซีนที่เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ที่ต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว แต่ในความเป็นจริง ภาคเอกชนหรือนายทุนที่จะช่วยเหลือ เช่นโรงงานต่างๆ สภาอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว ถ้าทางภาครัฐไม่เข้าร่วมเจรจากับบริษัทวัคซีนแล้วก็จะเป็นการยากที่จะมีการนำเข้ามาในช่วงนี้จนกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแบบเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน

ดังนั้นหลายคนที่ถามมาว่า ทำไมภาคเอกชนที่อยากนำเข้า แต่ไม่สามารถนำเข้ามาได้ คงจะได้เข้าใจ ถ้าผมเข้าใจผิดที่กล่าวมาข้างต้น ผมก็ยินดีน้อมรับที่จะแก้ไข ข้อคิดเห็น และความถูกต้องเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image