ปลัด ทส. เข้ม แม่ฮ่องสอน ตาก ลดจุดความร้อน ศกพ.ชี้ 17 จว.เหนือ ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่น เพิ่มสูงต่อเนื่อง

ปลัด ทส. สั่งเข้ม แม่ฮ่องสอน ตาก ลดจุดความร้อน ศกพ. แถลง 17 จังหวัดภาคเหนือ สถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 8 มีนาคม 2564 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมผ่านวิดีโอคอล กับ 5 จังหวัดภาคเหนือประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน และ ตาก โดยย้ำให้ 5 จังหวัดติดตามและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นมากที่สุด พร้อมสั่งการไปยังกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ให้สวิงเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือ

ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็อย่าชะล่าใจให้ปฏิงานอย่างเต็มที่ เน้นย้ำเจ้าหน้าในพื้นที่ดังกล่าวห้ามลาห้ามหยุด ให้เพิ่มมาตรการตรวจควันดำภายในเมือง เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบทั้งสถานการณ์และการปฏิบัติตัวเรื่องสุขภาพอนามัย ทั้งนี้สถานการณ์ในปีนี้ดีกว่าปีก่อน 30%

นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ โฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งพบปริมาณ PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาการเผาในที่โล่งในพื้นที่ ด้วยสภาพอากาศที่แห้งทำให้เกิดการลุกลามของไฟได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ประกอบกับสภาพอากาศและทิศทางของลมทำให้ภาคเหนือตอนบนเกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 โดย ศกพ. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ PM2.5 อย่างใกล้ชิด

Advertisement

นายศิวัชเปิดเผยว่า สถานการณ์จุดความร้อน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA พบว่าในอนุภูมิภาคแม่โขง พบจุดความร้อนมากที่สุดในประเทศเมียนมา 6,029 จุด ประเทศไทย 1,817 จุด และประเทศกัมพูชา 1,729 จุด ตามลำดับ

สำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนรวม รวม 1,505 จุด พบมากที่สุด จังหวัดแม่ฮ่องสอน 418 จุด ลำปาง 291 จุด และเชียงใหม่ 219 จุด และจากข้อมูลจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 มีนาคม 2564 พบจุดความร้อนรวม 40,669 จุด ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์ 16,564 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 15,646 จุด พื้นที่เกษตร 6,672 จุด พื้นที่ชุมชน 1,656 จุด และพื้นที่ริมทาง 131 จุด ตามลำดับ

ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง ผลการตรวจวัด PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 ณ เวลา 12.00 น. ตรวจวัดได้ 24 – 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานรวม 13 พื้นที่ และพบค่าสูงสุดที่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจวัดได้ 329 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

Advertisement

และเมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มีนาคม 2564 พบว่ามีจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 64 วัน และมีค่าสูงสุด 325 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายผลกระทบของสภาพอากาศต่อการสะสมของฝุ่นละออง ในวันที่ 8 – 14 มีนาคม 2564 ลมที่พัดปกคลุมเป็นลมใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมอ่อนมีการสะสมของฝุ่นอยู่ในระดับค่อนข้างมาก

นายศิวัชกล่าวว่า การดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้เกิดปัญหาไฟป่าและจุดความร้อนจำนวนมาก ซึ่งได้มีการประสานระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์เครื่องมือ ยานพาหนะ และอากาศยาน จากทั้งในและนอกพื้นที่มาสนับสนุนการเผชิญเหตุเพื่อเร่งควบคุมและดับไฟโดยเร็ว

โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และเชียงใหม่ ได้นำเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการบินโปรยน้ำดับไฟในพื้นที่ป่า

นอกจากนี้ในหลายจังหวัดได้มีการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาดจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 พร้อมกับดำเนินมาตรการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร จิตอาสา และประชาชน ในการลาดตระเวนเฝ้าระวังและป้องปรามการเผาและร่วมดับไฟในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำแนวกันไฟ ฝายชะลอน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า การทำกิจกรรมชิงเก็บ ลดเผา เพื่อนำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์และลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ พร้อมทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่งทุกกรณี และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ ได้เฝ้าระวังผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงราย และจะเร่งประสานขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการลดและควบคุมการเผาในที่โล่ง

“สำหรับข้อแนะนำแก่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 8 – 10 มีนาคม 2564 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายสภาพอากาศมีความเร็วลมต่ำ ฝุ่นละอองสะสมได้มากขึ้น ประกอบกับยังคงพบจุดความร้อนจำนวนมาก และลมตะวันตกเฉียงใต้มีแนวโน้มพัดฝุ่นละอองเข้ามาสะสมเพิ่มเติม

ศกพ. ยังคงขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เมื่อออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์” นายศิวัชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image