สบส.ลุยตรวจสถานพยาบาล”22 จว. 3 กลุ่มเสี่ยงแผ่นดินไหว” พบโครงสร้างแข็งแรง มั่นใจได้

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่พม่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ไกลถึงกรุงเทพมหานคร แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในเขตรอยต่อของเปลือกโลก แต่ก็มีพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อน หรือเป็นดินอ่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ถึง 22 จังหวัด เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจแก่บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนผู้รับบริการ ได้กำชับให้กองแบบแผน สบส. ส่งทีมวิศวกรโยธาออกดำเนินการตรวจสอบสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างมั่นใจ

นพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า ทีมวิศวกรโยธาจะสำรวจโครงสร้างอาคารเก่าของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ.2540 หากพบว่าอาคารสถานพยาบาลใดมีความเสี่ยงก็จะดำเนินการออกแบบปรับปรุงให้มั่นคงและก่อสร้างให้ได้ตามมาตรฐาน มีความแข็งแรงสามารถต้านทานการสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวได้ส่วนอาคารที่ก่อสร้างหลังปี พ.ศ.2540 กองแบบแผน ได้ออกแบบให้เป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2550 จากการตรวจสอบเบื้องต้นขณะนี้พบว่าอาคารสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวทุกแห่ง มีการเสริมความแข็งแรง และออกแบบโครงสร้างอาคารเพื่อต้านแผ่นดินไหว จึงขอให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่าสถานพยาบาลที่เข้ารับบริการจะมีความมั่นคงเพียงพอเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก “คู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและการก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวฉบับประชาชน” ซึ่งจัดทำโดยกรมโยธาและผังเมือง ได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว แบ่งออก เป็น 3 บริเวณ ครอบคลุม 22 จังหวัด ดังนี้

“บริเวณเฝ้าระวัง” เป็นพื้นที่หรือบริเวณใกล้แนวรอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยในภาคใต้ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และ สุราษฎร์ธานี รวม 7 จังหวัด

Advertisement

“บริเวณที่ 1” เป็นพื้นที่หรือบริเวณที่เป็นดินอ่อนมากที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร รวม 5 จังหวัด

“บริเวณที่ 2” เป็นพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อนที่อาจได้รับ ผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน รวม 10 จังหวัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image