อนุทิน-สธ. วางแผนรับมือ เตรียมส่งวัคซีนโควิด ลง 10 จว. พื้นที่ชายแดนพม่า

อนุทิน-สธ. วางแผนรับมือ เตรียมส่งวัคซีนโควิด ลง 10 จว. พื้นที่ชายแดนพม่า

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีการเตรียมความพร้อมเมื่อมีประชาชนชาวเมียนมา อพยพเข้ามาในประเทศไทย สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศว่า ทราบว่ามีผู้เข้ามาพักตามแนวชายแดน แต่ไม่ต้องกังวลเนื่องจากทางฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายสาธารณสุข ได้มีการหารือและเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ โดยเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ตนได้พบและร่วมปรึกษากับท่านแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งท่านให้ข้อมูลว่าจะพยายามตรึงไว้ให้มากที่สุด โดยจะมีที่พักพิงให้กับชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาโดยไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขตนได้เรียนว่าพร้อมที่จะช่วยในเรื่องของการตรวจเชื้อ และหากไม่เพียงพอก็จะมีรถพระราชทานในการตรวจเชื้อ หรือชีวนิรภัย และรถวิเคราะผลด่วนพิเศษพระราชทาน ซึ่งพร้อมจะเอาลงไปในพื้นที่ทันที อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของวัคซีน แน่นอนว่ามีการจัดเพิ่มเติมไว้สำหรับบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งล่าสุดก็จะมีมาอีก 800,000 โดส และในเดือนเมษายนนี้ก็จะมาอีก 1,000,000 โดส ซึ่งทางกระทรวงเตรียมพร้อมไว้หมดในการบริหารจัดการวัคซีนโดยยึดหลักความปลอดภัย เพื่อรอการบริหารจัดการวัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือน มิ.ย.นี้

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมการรองรับสถานการณ์แถบชายแดนของประเทศไทย ในวันนี้มีการประชุม สบค.สธ. โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. เป็นประธาน โดยทางเรายินดีที่จะสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับเจ้าหน้าที่บริเวณแถบชายแดนของประเทศ จำนวน 10 จังหวัด เนื่องจากสถานการณ์ที่ติดกับเมียนมา ถือว่าเป็นจุดเสี่ยง โดยเฉพาะในส่วนของทหาร ตำรวจ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับประชากรเมียนมามากที่สุด โดยขณะนี้ได้ประสานไปยังฝ่ายทหารให้กำหนดอัตราผู้ปฏิบัติงานมาที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดส่งวัคซีนลงไปฉีดในภาวะเร่งด่วนอย่างพอเพียง โดยมีโรงพยาบาลทหารเป็นผู้ดำเนินการฉีดให้

“ในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค.) จะมีการตรวจรับวัคซีนซิโนแวค 800,000 โดส และจะรีบกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ตามแนวชายแดนที่ติดกับเมียนมา แต่ในขณะนี้สถานการณ์ รพ.แม่สอด พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยลดลง มีการฉีดวัคซีนมากขึ้นตามแผน ทุกแผนของการกระจายวัคซีนเราจะมีการสำรองวัคซีนไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน ทำให้การทำงานราบรื่น” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องของวัคซีนจะต้องให้ฝ่ายความมั่นคง สำรวจจำนวนเจ้าหน้าที่บริเวณชายแดน และแจ้งมาที่ สธ.ส่วนกลาง เพื่อจัดหาวัคซีนลงไปให้ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นคนจัดสรรในส่วนนี้ว่าจะฉีดให้กับใครบ้าง เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เราได้เตรียมโรงพยาบาลแนวชายแดนไว้แล้ว พร้อมทั้งเตรียมมาตรการป้องกันควบคุมโรค ป้องกันเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขอประชาชนอย่ากังวล เนื่องจาก ประชากรเมียนมาที่เข้ามานั้นประเทศไทยให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม โดยการให้อยู่ตามบริเวณจังหวัดชายแดนเท่านั้นไม่ได้มีการอนุญาตให้เข้ามาพื้นที่อื่นของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image