สพฉ.กำหนดเกณฑ์คุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เข้ารักษารพ.ใกล้สุดฟรี!

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” กรณีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดว่า ที่ประชุม กพฉ.ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง มีมติกำหนดให้จัดทำแนวทางการปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ซึ่งจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคและเกิดความเสี่ยงของการดูแลรักษา

“โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญาก็ตาม ซึ่งโรงพยาบาลจะคัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางที่ สพฉ.กำหนดให้ และกรณีที่มีปัญหาในการคัดแยก เช่น ความเห็นแพทย์ และศูนย์รับแจ้งเหตุสั่งการวินิจฉัยไม่ตรงกัน ให้ปรึกษา EMCO Service Center ของ สพฉ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ โรงพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจะต้องได้รับการชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยจนถึง 72 ชั่วโมง ในอัตราที่ สพฉ.กำหนด และกองทุนเจ้าของสิทธิจะต้องตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามหลักเกณฑ์ ยืนยันว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และหากมีปัญหาในการวินิจฉัยที่ไม่ตรงกัน ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ทำการรักษาไปก่อน แล้วค่อยมาเคลียร์กันภายหลัง เพราะหลักการสำคัญคือต้องไม่ปล่อยทิ้งผู้ป่วยไว้กลางห้องฉุกเฉินเด็ดขาด โดยหลังการดำเนินงาน 6 เดือนแรก จะมีการประเมินติดตามเพื่อการปรับปรุงอีกครั้ง” นพ.อนุชากล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวจะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการของทั้ง 3 กองทุนพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะประกาศและใช้ได้จริงภายในเดือนธันวาคมนี้

thumbnail_emer

นพ.อนุชากล่าวว่า สำหรับเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง หรือทำให้การบาดเจ็บเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว โดยอาการที่เข้าข่ายฉุกเฉิน อาทิ ไม่รู้สึกตัว, ไม่หายใจ, หายใจผิดปกติ, แน่นหน้าอก, แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image