เหยี่ยวถลาลม : ยุติธรรมต่างแผ่นดิน

ในประเทศไทย การทุจริตที่บางๆ อาจจะไล่ล่ากันอย่างเอาเป็นเอาตาย ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่ใช่พวกกัน แต่กับพวกเดียวกัน หนักก็จะกลายเป็นเบา หรือไม่ก็ “เป่า” ให้หายวับไปกับตาเหมือน “นาฬิกายืมเพื่อน”

กรณีโตโยต้า ที่แดงจากอเมริกานั้น “ต้นเรื่อง” เกิดในประเทศไทย

บริษัทแม่ของโตโยต้ายอมรับกับประเทศที่มีกฎหมาย และคุณธรรมเข้มแข็งว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกในประเทศไทย “จ่ายเงินสินบน” ให้กับบุคคลสำคัญ และผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งในอดีตและปัจจุบัน

น่ายินดีที่เมื่อวันก่อน สุริยัณห์ หงส์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมาแล้ว

Advertisement

คำอธิบายของโฆษกศาลยุติธรรมคือ “โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย” เป็นฝ่ายฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี และในชั้นแรก “ศาลภาษีอากรกลาง” ตัดสินให้ บริษัท โตโยต้า ไม่ต้องรับผิดทางภาษีอากร

ที่ “ควรสนใจอย่างยิ่ง” คือ โตโยต้าในประเทศไทยต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายภาษีราว 11,000 ล้านบาท

หน่วยงานรัฐอุทธรณ์คำพิพากษานั้น

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษากลับ “ยกฟ้องโจทก์”

นั่นคือ ให้บริษัท โตโยต้า ชำระภาษีตามการประเมิน

“โตโยต้า” ฎีกา และศาลฎีกาก็มีคำสั่ง “อนุญาต” และ “รับฎีกา”

ลีลาของ “โตโยต้า” ในประเทศไทยแตกต่างกับที่สหรัฐอเมริกา ซึ่ง “โตโยต้า คอร์ป” ยอมรับในความไม่ซื่อ ไม่โปร่งใส ถึงขั้นว่าจ้างให้ “บริษัทที่เป็นกลาง” เข้าทำการสืบสวนสอบสวนภายในจนได้ความว่า “มีความเป็นไปได้ที่ในไทยอาจมีการจ่ายสินบนเพื่อเลี่ยงภาษี”

ในสหรัฐอเมริกา โตโยต้า สงบเสงี่ยมเจียมตนพร้อมกับประกาศจะรักษามาตรฐานวิชาชีพ และจริยธรรมสูงสุด !

แต่ที่ประเทศไทย โตโยต้ากลายเป็น “โจทก์” ฟ้องหน่วยงานที่เรียกเก็บภาษีรถยนต์พรีอุส

สุริยัณห์ หงส์วิไล ยืนยันว่าคำสั่งอนุญาตให้ “โตโยต้า” ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ฎีกานั้นเป็นไปตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 26

นั่นก็ว่ากันไป

แต่ที่ผู้คนควรสนใจนั้น ไม่ใช่ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายที่ให้อำนาจ หรือไม่ให้อำนาจกระทำ

ที่ต้องการคือ สำนึกสุจริตจากข้างใน และการลงมือสืบสวนสอบสวนทำความกระจ่าง “ภายใน” องค์กร

เช่นเดียวกับที่ “โตโยต้า คอร์ป” ยอมรับในสหรัฐอเมริกาว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image