“บิ๊กต๊อก” พร้อม ชง ม.44 ปรับยาบ้า ให้เป็นยาเสพติดประเภท 2 ทันที หากระบบพร้อม

บิ๊กต๊อก พร้อม ชง ม.44 ปรับบัญชียาบ้า เป็นประเภท 2 ทันที หากระบบสาธารณสุขพร้อม กม.ยาเสพติดฉบับใหม่แยกชัด พืช กระท่อม กัญชง กัญชา แบบไหนใช้ทางการแพทย์รักษาโรค กับแปรรูปเพื่อกาารค้า เดินหน้านโยบายบำบัดฟื้นฟู คัดแยกผู้เสพ ไม่ปรานีพวกเกิดมาเพื่อค้ายาอย่างเดียว ติดคุกแน่นอน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์ และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” ใน 5 มิติ ได้แก่ 1. ด้านองค์ความรู้ยาเสพติด : ทักษะสังคมเพื่อลดอันตราย 2. ด้านสังคม 3. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 4. ด้านเศรษฐกิจ และ 5. ด้านกฎหมายและการบังคับใช้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2559 โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวิทยา สุริยะวงค์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและยกร่างการปรับบัญชียาเสพติด ในหลายประเภท เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ยาเสพติดโลกร่วมถึงกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ของประเทศไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้เป็นไปได้ถ้าต้องการความรวดเร็วในการบังคับใช้ ก็สามารถเสนอให้ ม.44 ได้ทันที ตนไม่ได้ขัดข้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของระบบองค์กร ระบบสาธาณสุข การสร้างความรับรู้ความเข้าใจของคนในสังคม ทุกอย่างต้องมีความพร้อม ในการปฏิบัติ เพราะหากเขียนกฎหมายออกไปแล้วทำไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ โดยส่วนตัวแล้วตนเห็นว่าควรจะมีการปรับบัญชียาเสพติด เพราะแนวทางนโยบายที่เรากำลังจะเดินไปนั้น เป็นแนวทางของระบบสาธารณสุข แต่มีตัวยาบางชนิดที่เป็นยาเสพติดประเภท1 แพทย์ไม่สามารถใช่ หรือควบคุม สั่งยาได้ เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นหากเราจะเดินไปเช่นนั้น ก็จำเป็นปรับบัญชียาเสพติดเพื่อความสอดคล้อง

DSC_1397

Advertisement

“การปรับบัญชียาเสพติดไม่ได้ ใช่สิ่งที่พล.อ.ไพบูลย์ สั่งหรือต้องให้เป็นตามใจ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนทำไมถึงปรับ การปรับนั้นเพื่อต้องการทำให้แนวทางที่วางไว้เดินต่อได้ ระบบสาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหายาเสพติด เพราะถ้าไม่แก้กฎหมาย มันไม่มีช่องทา งที่จะเข้าไปดำเนินการตามแนวที่ต้องการ ระบบแพทย์ สาธารณสุขก็ทำไม่ได้ ถ้ายาบ้ายังเป็นประเภทที่ 1 จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลย คนในสังคมเชื่อข้อมูลทางการแพทย์ ครั้งหนึ่งแพทย์เคยบอกว่ายาม้าเป็นยาเสพติดประเภท 1 จึงแก้กฎหมายเปลี่ยนยาม้าเป็นยาบ้าทันที ตอนนี้มุมมองในสังคมเปลี่ยนแล้ว ตนประกาศชัดเจนว่าต้องปรับระบบ ถ้ากระทรวงสาธารณสุขมั่นใจในระบบการควบคุมก็เสนอขึ้นมา ตนพร้อมจะใช้ ม.44 ปรับยาบ้าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 เพื่อใช้บำบัดรักษาในทางสาธารณสุขได้ภายใน 1 สัปดาห์หรือ 1 เดือน แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการแก้กฎหมายปกติ. เช่นเดียวกับข้อเสนอที่ต้องการให้ยกเลิกสินบนนำจับยาเสพติดก็สามารถทำได้ทันทีเช่นกัน “พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่จะคัดแยกชัดระหว่างผู้เสพ คนเสพด้วยค้าด้วย พวกค้าอย่างเดียวเกิดมาเพื่อค้าก็ต้องติดคุก ไม่มีทางรอดจากโทษประหารชีวิตไม่มีลดโทษ วิธีการคัดกรองคือประเด็นที่ท้าทาย ส่วนข้อกังวลในตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าในชั้นจับกุมเมื่อเจอผู้ค้าแล้วลงประวัติเป็นผู้เสพ หากทำให้สังคมมั่นใจในระบบการควบคุมการใช้ยา คนขายยาเสพติดต้องติดคุก  ก็มีความเป็นไปได้ที่แอมเฟตามีนจะเหลือเม็ดละ 5-10 บาท เพื่อทำลายตลาดการค้า”พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

“ผมว่าทุกอย่างจะเกิดเหตุมันมีเหตุและผล เรื่องที่เป็นข้อถกเถียงสงสัยก็เป็นหัวข้อในการศึกษาสัมมนา เช่น เราคิดว่าถ้าราคายาเสพติดถูกลง คนขาย หรือรับจ้างขน ก็จะน้อยลง แต่มีประชาชน อีกส่วนคิดว่า ถ้าราคาถูกเหลือ 1 บาท หรือ 50 ส.ต. ลูกหลานเขาก็จะซื้อหาได้ง่าย ติดยางอมแงม เรื่องเหล่านี้เป็นมุมคิดที่เกิดขึ้นหน้าที่ของเรา ก็ต้องอธิบายชี้แจงทำความเข้าใจ ไม่ต้องไปโกรธ เพราะเราติดว่าเขาอาจจะยังไม่เข้าใจกับระบบที่เรากำลังคิดกำลังทำอยู่” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

Advertisement

กกด

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวนโยบายที่ต้องปรับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ป.ป.ส.จะต้องเป็นหน่วยงานบูรณาการ ตามระบบที่จะมีการปรับเปลี่ยน เพราะนโยายการทำสงครามยาเสพติด จะไม่ใช่นโยบายเหมือนที่ผ่านๆมา ดังนั้น ป.ป.ส.ต้องประสานบูรณาการทั้ง 3 ระบบ ทั้งการป้องกัน ปราบปราม บำบัดฟื้นฟูแยกคนเสพไม่ใช่ไปตามไล่จับแล้วไปถ่ายรูป ป.ป.ส.ต้องเครือข่ายผู้ค้าต้องชัดเจน ต้องใช้ชุมชนบำบัดเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ใน 81,905 หมู่บ้าน ตอนนี้ก็เริ่มกันแล้ว ส่วนการเรื่องการปราบปรามภายนอกประเทศ ก็ต้องเดินหน้า ปราบปรามแหล่งผลิตในต่างประเทศ ซึ่งตนและอาเซียนก็ได้ผลักดันโมเดลสามเหลี่ยมทองคำ

เมื่อถามว่า หากกฎหมายประกาศใช้ จำนวนนักโทษกว่าร้อยละ 90 ในเรือนจำ จะลดลงหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ ต้องดูในรายละเอียดของกฎหมาย ทางคดีที่ดำเนินไปแล้ว หรือเข้าสู่กระบวนการก็ว่ากันไป แต่อาจจะมีในเรื่องของการพักโทษ อภัยโทษ แล้วแต่รายละเอียดของกฎหมายขอตรวจสอบก่อน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การปรับบัญชีรวมถึงกระท่อมและพืชเสพติดอื่นด้วยหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย​์ กล่าวว่า ใช่ ในกฎหมายยาเสพติดใหม่ จะมีการแยกประเภทพืชเหล่านี้ออกมาชัดเจนว่า ลักษณะไหนเป็นยาเสพติด แบบไหนเพื่องานสาธาณสุข หรือการรักษาโรค มีทั้ง กัญชง กัญชา และกระท่อม ในกฎหมายใหม่จะมีรายละเอียดค่อนข้างชัดเจน เพราะกฎหมายปัจจุบันเขียนว่า กระท่อม กัญชา เป็นสิ่งผิดกฎหมาย มันก็เลยเกิดปัญหาอย่งที่เห็น ตามจับกระท่อม ตามบ้านคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะกฎหมายเขียนแบบนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กฎหมายจะชัดในเรื่องพฤติการณ์แบบไหนที่ส่อไปในการค้า การผลิต เช่น สกัดกระท่อมใส่ขวดขาย มีกัญชา แปรรูป แบบนี้ชัดว่าผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาพืชเสพติดเหล่านี้มีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคตามภูมิปัญหาชาวบ้าน แต่กฎหมายปัจจุบันทำให้กลุ่มเหล่านี้เข้าไม่ถึง

ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่าในที่ประชุมได้มีการนำเสนอ ข้อมูลเกี่ยวกับ ยาบ้าหรือเมทแอเฟตามีน ข้อมูล ป.ป.ส.ระบุว่าคนไทย เกือบ 2 ล้านคน ใช้ยาบ้าสูงถึงปีละ 3,000-4,000 ล้านเม็ด ซึ่งแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน มีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านเม็ด จากนั้นลักลอบนำเข้าประเทศไทยปีละ 500 ล้านเม็ด ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ 100 ล้านเม็ด หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ส่วนตัวเลขผู้เสพในประเทศ มีมากถึง 2 ล้านคน

ทั้งนี้มีข้อเสนอทางการแพทย์และสาธารณสุขระบุว่า สารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนคล้ายอะดรีนาลีนสามารถสร้างความรู้สึกมีพลัง มีความมั่นใจ และตื่นตัว ซึ่งในสถานการณ์การต่อสู้ทางการทหารในต่างประเทศ มีการใช้ยาโมดาฟินิลและอาร์โมดาฟินิล เป็นตัวเลือกแทนแอมเฟตามีน และให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณา โดยองค์การเภสัชกรรมผลิตยาดังกล่าว เนื่องจากโมดาฟินิลและอาร์โมดาฟินิลไม่ใช่ยาเสพติด และไม่เป็นพิษ การเสพทำได้โดยการกิน ไม่สามารถสูด สูบ หรือฉีด จึงสามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการลดอันตราย (Harm Reduction) แทนสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนจากตลาดยาบ้า.

อีกทั้งในประเทศต่างประเทศ เช่น อินเดียสามารถสั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตได้ในราคาเม็ดละ 1 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ยาบ้าในตลาดมืดราคาเม็ดละ 200 บาท ซึ่งหากภาครัฐเป็นผู้ผลิตแล้ว ไม่เพียงจะเป็นการทำลายผลกำไรขององค์กรอาชญากรมยังสามารถลดการแพร่ระบาดของแอมเฟตามีนได้ ซึ่งในประเทศต่างๆทั่วโลกไม่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของแอมเฟตามีนเลย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ยังเสนอให้ออกแบบการดูแลการใช้แอมเฟตามีน เช่น ดื่มน้ำและทานอาหารให้เพียงพอก่อนใช้ยา ไม่ใช้ยาในช่วงกลางคืน ไม่ใช้ยาร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์หรือยากล่อมประสาทอื่น และไม่ใช่แอมเฟตามีนเกินสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image