เคาะระฆัง รถไฟใหม่เริ่มวิ่ง ไฉไล-เก๋ไก๋กว่าเดิม

วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ฤกษ์เผยโฉมอย่างเป็นทางการ สำหรับรถไฟรุ่นใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ทยอยรับมอบจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี จำกัด จากประเทศจีน รอบแรกมาแล้ว 39 คัน จากทั้งหมดที่จัดซื้อไป 115 คัน ถือเป็นรถไฟรุ่นใหม่ล่าสุดที่ ร.ฟ.ท.จะนำมาให้บริการผู้โดยสาร หลังรอคอยมานานหลายปี

งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเดินทางไปเป็นประธาน เคาะระฆังส่งสัญญาณปล่อยขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-นครปฐม ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงด้วยตัวเอง พร้อมร่วมทดลองนั่งจากสถานีหัวลำโพงไปลงที่สถานีบางบำหรุ

บรรยากาศภายในงานดูคึกคักเป็นพิเศษ นอกจากจะมีประชาชนให้ความสนใจถ่ายรูปคู่กับรถไฟจำนวนมากแล้ว บรรดาเจ้าหน้าที่และแขกที่เข้าร่วมงานต่างก็สนใจถ่ายรูปขบวนรถไฟเช่นกัน

ระหว่างทางที่ขบวนรถไฟวิ่งผ่านตั้งแต่สถานีหัวลำโพงก็ได้รับความสนใจจากประชาชนที่อยู่สองข้างทางอย่างต่อเนื่อง ทั้งพ่อค้า แม่ค้า คนที่กำลังเดินทาง รวมถึงคนที่ทำงานในอาคารริมทางรถไฟ ออกมารอดูขบวนรถไฟที่จะวิ่งผ่าน และมีอยู่ไม่น้อยที่ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพ หรือถ่ายเป็นคลิปเมื่อขบวนรถไฟวิ่งผ่าน

Advertisement

ช่วงขบวนรถไฟจอดที่สถานีบางบำหรุ และสถานีนครปฐม ก็มีประชาชนในพื้นที่ รวมถึงข้าราชการที่ทราบข่าว ต่างให้ความสนใจถ่ายรูปคู่กับขบวนรถไฟรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากด้วย

การที่ประชาชนให้ความสนใจรถไฟรุ่นใหม่จำนวนมากในครั้งนี้ คงจะเป็นเพราะรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูใหม่ ทันสมัย สีสันสวยงาม

ที่บริเวณประตูทางขึ้น-ลงจะมีจอแอลอีดีบอกชื่อขบวน เส้นทางให้บริการจากสถานีต้นทางถึงปลายทางด้วย แต่ละขบวนยังมีขนาดที่ยาวกว่ารถไฟปกติที่ให้บริการ โดยมีความยาวถึง 25 เมตร สูง 3.78 เมตร กว้าง 2.9 เมตร ขนาดทางเดินกว้างขึ้น จากเดิม 65 ซม. เพิ่มเป็น 78 ซม. เพื่อให้รถวีลแชร์และรถเข็นขายอาหารสามารถเคลื่อนผ่านไปได้

Advertisement

ใน 1 ขบวน จะมีทั้งหมด 13 โบกี้ แบ่งเป็นรถกำลังไฟปรับอากาศ 1 โบกี้ รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จำนวน 1 โบกี้ รถขายอาหารปรับอากาศ 1 โบกี้ และรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 รวมรถรองรับผู้พิการ อีก 10 โบกี้

ทันทีที่ก้าวเท้าขึ้นไปบนขบวนรถ สามารถรับรู้ได้ถึงความทันสมัย เริ่มจากประตูที่จะเข้าไปภายในตู้ขบวน เป็นประตูอัตโนมัติ ต้องใช้มือกดปุ่มสีเขียวตรงกลาง ประตูถึงจะเปิดออกและปิดเองโดยอัตโนมัติ คล้ายกับประตูรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สายเอ็กซ์เพรสไลน์

พอเดินเข้าไปภายในโบกี้ ก็จะเห็นถึงความแตกต่างจากรถไฟที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน คือ มีสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบรักษาความปลอดภัยที่ครบครัน ทั้งจอแอลอีดี กล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ โดยทุกที่นั่งและที่นอนเป็นผ้ากำมะหยี่สีแดงสดใส ดูสะอาดสะอ้าน

รถไฟใหม่

จากการเดินสำรวจตู้รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้นที่ 1 ซึ่งจะอยู่ท้ายขบวน น่าใช้บริการมาก เพราะมีการกั้นห้องเป็นสัดส่วน สามารถเลื่อนประตูเปิด-ปิดได้ แบ่งเป็น 12 ห้อง รวม 24 เตียงนอน ผนังห้องโดยสารสามารถเปิดออก เพื่อเชื่อมต่อ 2 ห้อง ให้เป็นห้องเดียวกันได้ ทำให้ห้องดูกว้างขวางขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางเป็นหมู่คณะ 4 คน เพราะ 1 ห้องนอนได้ 2 คน หรือหากเดินทางกัน 2 คน ก็สามารถเปิดประตูให้เป็นห้องเดียวได้

ส่วนเก้าอี้ที่นั่งสามารถปรับเป็นเตียงนอนขนาดความกว้าง 70 ซม. ความยาว 2 เมตร แต่ละห้องยังมีตาแมวที่ประตูเพื่อดูคนจากภายนอกห้องได้ด้วย

นอกจากนี้ ทุกห้องยังมีอ่างล้างมือขนาดกะทัดรัดแบบส่วนตัว พร้อมกระจก ไม่ต้องไปใช้ปะปนกับคนอื่น จึงสะดวกในการล้างหน้า แปรงฟัน

ภายในห้องยังมีจอแอลอีดีส่วนตัวขนาด 14 นิ้ว หน้าจอสัมผัส เพื่อบอกสถานีปัจจุบัน สถานีถัดไป ความเร็วของรถ อุณหภูมิภายในห้องและนอกรถ แสดงสัญลักษณ์ห้องน้ำพร้อมใช้งาน ช่องเสียบชาร์จไฟแบบยูเอสบี ช่องเสียบหูฟัง มัลติมีเดียสำหรับรับชมความบันเทิง และยังสามารถสั่งอาหารออนไลน์จากตู้เสบียงได้ด้วย

ในตู้โดยสารชั้นนี้ ยังมีปุ่มสำหรับเรียกพนักงานที่อยู่ด้านข้างที่นั่ง ในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องต่างๆ จากพนักงานด้วย

ที่สำคัญนอกจากจะมีห้องน้ำ ซึ่งเป็นระบบสุญญากาศเหมือนห้องน้ำบนเครื่องบินที่มีอยู่ 2 ห้อง ห้องสุขาชาย 1 ห้องแล้ว ยังมีห้องอาบน้ำแบบฝักบัว พร้อมเครื่องทำน้ำอุ่นอีก 1 ห้องด้วย

เมื่อเดินมาที่ตู้รถปรับอากาศนั่งและนอน ชั้นที่ 2 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ตู้ละ 40 ที่นั่ง มีความกว้างที่นั่ง 60 ซม. ยาว 96 ซม. และความยาวของที่นอน 1.85 เมตร พบว่าเตียงชั้นบนสามารถพับเก็บได้และมีตัวล็อก แต่ละที่นั่งมีปลั๊กไฟแบบสามตา เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ มีไฟสำหรับอ่านหนังสือที่สามารถปรับแรงไฟได้ ทั้งไฟสว่างมาก หรือสว่างน้อย

นอกจากนี้ ที่ริมหน้าต่างทุกที่นั่งมีที่วางแก้วแบบหลุม และมีพื้นที่เล็กๆ สำหรับวางสิ่งของต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันสามารถใช้สัญญาณไวไฟ จากขบวนรถไฟได้เมื่อเปิดให้บริการจริง

ห้องน้ำของชั้นนี้ แบ่งเป็นห้องสุขาแบบนั่ง 2 ห้อง เป็นห้องสุขาชายแบบยืน 1 ห้อง เป็นระบบปิด ช่วยลดปัญหากลิ่นรบกวนได้ ขณะเดียวกัน ก็มีประตูกั้นอีกชั้นก่อนเข้าห้องโดยสาร ทำให้ไม่มีกลิ่นเล็ดลอดเข้าไปในห้องโดยสารได้ ผู้โดยสารที่ต้องการใช้ห้องสุขาสามารถสังเกตที่สัญลักษณ์บนประตูห้องน้ำว่างหรือไม่ว่างได้ ถ้าสัญลักษณ์เป็นสีแดง แสดงว่ามีคนใช้งานอยู่

นอกจากนี้ บริเวณทางเดินยังมีจอแอลอีดีแจ้งข้อมูลรถ เช่น สถานีก่อนหน้า สถานีถัดไป สถานีจุดหมายปลายทาง และความเร็วรถ เป็นต้น

เดินถัดไปอีกหน่อยก็เจอตู้เสบียง มีการแบ่งเป็นพื้นที่เคาน์เตอร์สั่งอาหารและขายอาหาร มีที่นั่งรับประทานอาหาร 32 ที่นั่งและสำหรับวีลแชร์อีก 2 ที่นั่ง ภายในครัวเน้นวัสดุที่ทำจากสแตนเลสที่เช็ดทำความสะอาดง่าย มีระบบกำจัดควันด้วย ส่วนพื้นที่รับประทานอาหาร มีการออกแบบเป็นพื้นที่ว่าง พร้อมโต๊ะวางอาหารแบบบิลด์-อิน พับเก็บได้

นอกจากนี้ แต่ละขบวนจะมีลิฟต์ยกรถวีลแชร์ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย รวมทั้งมีอักษรเบรลอยู่ที่ปุ่มต่างๆ เช่น ปุ่มเปิด-ปิดประตู ปุ่มขอความช่วยเหลือ ช่วยอำนวยความสะดวกผู้พิการทางสายตาด้วย

เบื้องต้น ร.ฟ.ท.มีกำหนดจะเปิดให้บริการเป็นขบวนรถด่วนพิเศษเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นเส้นทางแรกในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้น จะทยอยเปิดให้ครบทุกเส้นทางต่อไป คือ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ ไป/กลับ วันละ 2 ขบวนต่อวัน รวม 8 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 9 แสนคนต่อปี คาดว่า จะสร้างรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ประมาณ 785.1 ล้านบาทต่อปี

แม้ภาพรวมรถไฟรุ่นใหม่จะทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก และสะอาดสะอ้านมากขึ้น แต่กระนั้นก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผ้ากำมะหยี่ที่ใช้เป็นวัสดุตกแต่งทั้งที่นั่งและที่นอน จะมีความคงทนมากน้อยขนาดไหน เพราะดูแล้วเหมือนจะขาดยุ่ยง่าย ส่วนประตูอัตโนมัติที่ใช้วิธีกดจะทนมือได้นานแค่ไหน

ที่สำคัญประตูห้องน้ำต้องใช้แรงมือดันสูงมาก จะเป็นปัญหากับผู้สูงอายุหรือไม่

หากปรับปรุงแก้ไขก่อนเปิดบริการจริง จะทำให้รถไฟรุ่นใหม่ไฉไล เก๋ไก๋กว่าเดิมอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image