ตะลึงกองอีไอเอ ล้นห้อง เลขาสผ.รับมากจริงๆต้องเช่าโกดังเก็บ แนะเขียนให้กระชับ หวั่นตึกรับน้ำหนักไม่ไหว

วันที่ 14 มกราคม นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และอดีตข้าราชการกองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม ได้เข้าไปประชุม ที่อาคารสผ.เดินผ่านบริเวณชั้น 3 ของอาคาร รู้สึกตกใจกับกองเอกสารจำนวนมากที่ล้นออกมานอกห้อง และถูกวางเกะกะเต็มบริเวณระเบียงทางเดิน จนไม่สามารถเดินไปมาในบริเวณดังกล่าวได้ สอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่าเอกสารที่ล้นออกมานอกห้องทั้งหมดนั้นคือ เอกสารรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ(อีเอชไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ทั้งส่วนที่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)พิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา รวมทั้งอาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่ได้พิจารณาอีกด้วย ซึ่งส่วนที่ยังไม่ได้พิจารณานั้น ต้องรอให้สผ.แต่งตั้ง คชก.ขึ้นมาก่อน ส่วนที่พิจารณาเรียบร้อยแล้วนั้น ต้องเก็บเอาไว้ 10 ปี ถึงจะเอาไปทิ้งทำลายได้ จึงดูเป็นเอกสารกองใหญ่ที่ดูแล้วไม่สบายตา ไม่สบายใจเลย ทราบว่า นอกจากห้องเก็บเอกสารห้องนี้แล้ว ยังมีอีกห้อง ซึ่งอยู่อีกตึกที่มีลักษณะไม่แตกต่างกันนัก คือ มีจำนวนเอกสารและแฟ้มจำนวนมาก อดจนหวั่นใจไม่ได้ว่าตึกจะรับน้ำหนักไม่ไหว

“ในแต่ละปีจะมีบริษัทที่ปรึกษาส่งอีไอเอ และอีเอชไอเอ มาให้คชก.พิจารณาเฉลี่ย 600 โครงการ คชก.จะพิจารณาโครงการละไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง จำนวนเอกสารและแฟ้มของตัวโครงการก็จะใช้เท่ากับจำนวน คชก.ที่เข้ามาพิจารณา ซึ่งจะมีไม่ต่ำกว่า 7 คน โดยเอกสารแต่ละเล่มจะมีจำนวนหน้าไม่ต่ำกว่า 500 หน้า หลายครั้ง ประชุมใหม่ เจ้าหน้าที่ต้องพริ้นท์ เอกสารมาแจกใหม่เอกสารแต่ละเล่ม น่าจะหนักไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม ไม่รวมแฟ้มหนาๆอีก รวมกันแล้วน่าจะ 5 กิโลกรัม ต่อชุด คิดดูว่า ในระยะ 10 ปี จะต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ สำหรับเก็บเอกสารพวกนี้ โดยเวลานี้ ทั้งหมดถูกวางระเกะระกะเหมือนกองขยะ ไม่น่าเชื่อเลยว่ากระดาษเหล่านี้คือโครงการที่มีมูลค่านับร้อยล้านบาท”นายสนธิ กล่าว

เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนเคยถามเจ้าหน้าที่เหมือนกันว่า ทำไม ไม่เก็บข้อมูลเอาไว้ในแผ่นดิส จะได้ไม่ต้องใช้เนื้อที่สำหรับเอกสารจำนวนมากมายขนาดนี้ และสผ.เองก็ควรจะเป็นตัวอย่างในเรื่องการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะกระดาษ เพราะดูจากพฤติกรรมการใช้กระดาษแล้ว พบว่า สิ้นเปลืองอย่างมาก ใช้กระดาษนับล้านแผ่น ในระยะเวลา 10 ปี ทั้งๆที่ยุคสมัยนี้ สามารถเก็บข้อมูลลงในแผ่นดิส ได้แล้ว ได้รับคำตอบว่า ทางคชก.สะดวกที่จะอ่านผ่านกระดาษ มากกว่าอ่านจากในคอมพิวเตอร์ ได้ฟังคำตอบแล้ว รู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่ง จึงอยากจะนำเรียนเรื่องนี้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ควรมีวิธีการ และระบบการจัดการเอกสารเหล่านี้แบบใหม่ เพราะนับวัน จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวตึกก็ต้องรับน้ำหนักเพิ่มด้วย หากจัดการดีๆเป็นระบบก็จะค้นหาได้ง่าย ทราบว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องการใช้เอกสารเพื่อไปขึ้นศาล แต่หาไม่เจอ วุ่นวายกันมาก

“หากเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมา ทั้งหมดก็หายไปไม่เหลือ ทั้งที่ความจริงแล้ว การทำข้อมูลในรูปแบบแผ่นดิส หรือเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์นั้นทำง่ายมาก แต่ทำไมไม่ทำ ในปี 2559 นี้ คาดว่า จะมีโครงการต่างๆส่งทั้งอีเอชไอเอ และอีไอเอ เข้ามาให้พิจารณาอีกจำนวนมาก หมายความว่าปริมาณเอกสารก็จะเพิ่มขึ้นอีก หากไม่มีระบบการจัดเก็บที่ดี สผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่นๆโดยเฉพาะเรื่องการจัดการ และการใช้ทรัพยากรไม่ให้สิ้นเปลือง”นานยสนธิ กล่าว
นางระวิวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสผ. กล่าวว่า ยอมรับว่า เอกสารอีไอเอ และอีเอชไอเอนั้นมีมากจริง โดยปีที่ผ่านมานั้น บริษัทที่ปรึกษา ส่งมาให้สผ.พิจารณา มีมากถึง 2,500 โครงการ อีไอเอฉบับเก่าๆนั้น สผ.ได้ไปเช่าโกดังเพื่อเก็บเอกสารพวกนี้ที่ จ.สระบุรี หากต้องการฉบับไหน ก็จะระบุไปก็จะมีเจ้าหน้าที่ของโกดังเอามาส่งให้ที่สำนักงาน เวลานี้สผ.อยู่ระหว่างการสแกนเอกสารทั้งหมดลงไปในระบบดิจิตอล เพื่อให้สามารถจัดเก็บสะดวกยิ่งขึ้น

Advertisement

เมื่อถามว่า สผ.มีแนวทางอะไรที่จะทำให้เกิดการประหยัดทรัพยากร เช่น ใช้กระดาษให้น้อยลงกว่านี้หรือไม่ นางระวิวรรณ กล่าวว่า ความจริง ก็ได้บอกกับทางบริษัทที่ปรึกษา เมื่อจะส่งเอกสารมาให้คชก.อ่านให้เขียนให้กระชับ ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องยกทฤษฎีอะไรมาอ้าง เพราะคนที่อ่านเป็นอาจารย์ มีความรู้อยู่แล้ว อีไอเอบางฉบับ ยกทฤษฎี ที่เป็นเท็กซ์ มาประกอบ หลายหน้ามาก ยิ่งทำให้เปลืองกระดาษโดยใช่เหตุ และเวลานี้ คชก.หลายคน ก็สามารถอ่านเอกสารจากไอแพดได้แล้ว ซึ่งสผ.ก็พยายามอำนวยความสะดวกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะได้ไม่เสียเวลาในการพิจารณา เนื่องจากทุกวันนี้ มีทั้งอีไอเอ และอีเอชไอเอเข้ามาให้พิจารณาทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image