รองอธิบดีอุทยานฯชี้อย่ากังวล “อนาคอนดา” ห่วงเหลือมหลามดีกว่า “กู้ภัย” จับแล้วเอาไปทิ้งไหน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์เรื่องความคืบหน้าที่กรมอุทยานฯจะออกหาตัวงูอนาคอนดาที่คาดว่าเวลานี้น่าจะมีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 100 ตัว แต่ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้างว่า ก่อนหน้านี้ได้คุยกับนายสัตวแพทย์ (นสพ.) ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่รักษา “ไอ้เขียว” อนาคอนดาที่ป่วยเป็นเนื้องอกที่หัวใจ แต่ นสพ.ทวีศักดิ์ไม่ยอมบอกว่าเจ้าของอนาคอนดาเป็นใคร เพียงแต่บอกว่า เจ้าของนำเข้ามาถูกต้อง แม้ตนพยายามถามว่าใคร ก็ไม่ยอมบอก อ้างว่าเป็นเรื่องสิทธิคนไข้ ทำให้ตนไม่เชื่อนักว่า อนาคอนดาไอ้เขียวนั้นนำเข้ามาอย่างถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบแล้ว ที่ผ่านมามีผู้ขอดำเนินการนำเข้างูอนาคอนดาอย่างถูกต้องเพียง 1 รายเท่านั้นคือ นายสมพร มงคล ขออนุญาตเอาเข้ามาเมื่อปี 2549 จำนวน 50 ตัว และมีอยู่ในองค์การสวนสัตว์อีก 17 ตัว เข้าใจว่าเวลานี้ถ้าทั้งหมดยังไม่ตายก็น่าจะมีขนาดใหญ่เท่ากับไอ้เขียว ที่ นสพ.ทวีศักดิ์ผ่าตัดให้อย่างแน่นอน รวมทั้งออกลูกออกหลานมาเพิ่มขึ้นแน่นอน

“ผมได้สั่งให้มีการตรวจสอบไปที่ต้นเรื่องแล้วว่าอนาคอนดาทั้งหมดที่ออกจากผู้นำเข้าอยู่ที่ไหนบ้าง ตรวจสอบได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่กลัวคือ คนที่เลี้ยงอนาคอนดาอยู่เวลานี้ และได้มาอย่างไม่ถูกต้อง ไม่มีใบอนุญาตนั้น จะเกิดกลัวความผิด แล้วเอาไปปล่อยเพราะกลัวความผิด ขอเรียนว่า หากไม่อยากเลี้ยง หรือเลี้ยงไม่ไหวแล้วอย่าเอาไปปล่อย ให้แจ้งมาที่กรมอุทยาน กรมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปรับเอง” นายอดิศรกล่าว

รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติกล่าวว่า ไม่อยากให้กังวลเรื่องอนาคอนดากันมากนัก เพราะจากการสอบถามไปยังหัวหน้าอุทยานต่างๆ เบื้องต้นยังไม่มีใครเคยพบอนาคอนดาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เลย แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ บรรดางู โดยเฉพาะงูเหลือม งูหลาม ที่ประชาชนแจ้งให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยไปช่วยจับ กรณีที่เจองูเหล่านี้อยู่ในบ้าน เพราะงูเหลือมและงูหลาม รวมทั้งงูเห่านั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง กรณีที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยแต่ละพื้นที่ไปจับออกมาจากบ้านชาวบ้านนั้น ก่อนจะนำไปปล่อยนั้นจะต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯในพื้นที่นั้นๆ ก่อนที่จะนำไปปล่อยในที่ที่เหมาะสม

“แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่เราน้อยมาก ส่วนใหญ่เขาก็เอาไปปล่อยเอง ไม่รู้ว่าปล่อยกันที่ไหนบ้าง เหมาะสมหรือไม่ ตามหลักแล้วสัตว์เหล่านี้ต้องนำไปปล่อยในป่าอนุรักษ์ เพื่อให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ต่อไป ไม่ใช่ว่าปล่อยป่าไหนก็ได้ หรือเห็นที่ไหนรกก็ปล่อย เพราะหากทำเช่นนั้น โอกาสที่งูจะเลื้อยเข้าไปอยู่ในบ้านคน หรือเข้าหาคนก็มีอยู่เหมือนเดิม” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image