1668 แจงภาพ ‘จนท.ไม่มีคอมพ์ฯ-ใช้ปากกาจด’ แค่ส่วนหนึ่ง ของจริงอุปกรณ์ครบมือ

สายด่วน 1668 แจงภาพ ‘จนท.ไม่มีคอมพ์ฯ-ใช้ปากกาจด’ แค่ส่วนหนึ่ง ของจริงอุปกรณ์ครบมือ

วันที่ 23 เมษายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวชี้แจงกรณีมีผู้วิจารณ์ในโลกโซเชียลถึงศักยภาพในการดำเนินงานสายด่วนเฉพาะกิจ 1668 ที่ไม่เจ้าหน้าที่จดด้วยปากกา ไม่มีคอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูล ว่า ภาพที่ปรากฏออกมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานเฉพาะกิจ จิตอาสาของพวกเรา เป็นเพียงภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ทีมตอบสนอง และประสานงาน ซึ่งจะทำงานในส่วนของการโทรศัพท์กลับหาประชาชนที่ให้ข้อมูลไว้ทั้งทางโทรศัพท์ และทางไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งโทรกลับเพื่อซักประวัติ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ต้องมีพื้นที่ในการจดข้อมูล และต้องทำอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถโทรติดตามประชาชนที่ให้ข้อมูลไว้ และประสานงานได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่ส่วนทีมรับสายฮอตไลน์ (Hotline) และทีมข้อมูล ที่มีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การสื่อสารใช้งานอย่างแน่นอน จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจถึงการทำงาน และรับรู้ถึงความตั้งใจของเจ้าหน้าที่จิตอาสาที่ต่างทำงานกันอย่างทุ่มเท พร้อมยืนยันจะทุ่มเททำงานต่อไป

“ผมยืนยันว่าเรามีคอมพิวเตอร์ เครื่องไม้เครื่องมือในการบันทึก ตลอดจนจัดเก็บข้อมูลเพียงพอกับปริมาณงานที่เราทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งการทำงานเราแบ่งออกเป็น 4 ทีม คือทีมรับสาย ทีมข้อมูล ทีมแพทย์ และทีมตอบสนอง ทำงานสอดประสานกันอย่างลงตัว แต่อย่างที่ผมเรียนย้ำเสมอว่า 1668 คือ สายด่วนเฉพาะกิจ ทุกท่านคือ จิตอาสาที่เป็นแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ที่สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้น โดยใช้ทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางการแพทย์ จิตวิทยาในการสื่อสารกับผู้ป่วยและการให้กำลังใจ เปรียบเสมือนผู้ป่วยคือคนในครอบครัว เพื่อคลายความกังวลใจแก่ผู้ติดเชื้อได้ แม้ทุกท่านมีงานประจำที่ต้องปฏิบัติเป็นจำนวนมาก แต่ก็อาสาเข้ามาทำงานสายด่วนดังกล่าวโดยไม่มีวันหยุดอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งยังยินดีให้โอนสายเรียกเข้าต่าง ๆ เข้าหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวของตนเอง ผมจึงอยากจะขอกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการวิพากวิจารณ์ถึงเครื่องมือ และอุปกรณ์การทำงานว่าไม่มีความพร้อมนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่า 1668 เป็นสายด่วนเฉพาะกิจที่เปิดให้บริการทุกวันระหว่างเวลา 08.00 -22.00 น. แต่มีการทำงานอย่างละเอียดโดยแบ่งเป็น 4 ทีมหลัก คือ 1.ทีมรับสายฮอตไลน์ 1668 จากผู้ป่วยโควิด-19 สอบถามข้อมูลรายละเอียดของผู้ป่วย 2.ทีมข้อมูล มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากทีมงานสายด่วนและทีมประสานงาน วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำฐานข้อมูล สรุปข้อมูลรายวัน 3.ทีมแพทย์ มีทีมแพทย์ประเมินอาการระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของโรค และ 4.ทีมตอบสนองและประสานงาน มีหน้าที่ประสานขอเตียงจากโรงพยาบาลเป้าหมาย (ผ่านศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ และประสานผ่านศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีเป็นผู้ติดเชื้อในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์) รวมทั้งโทรเยี่ยมติดตามอาการของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละสายใช้เวลาในการพูดคุยกับผู้ป่วยประมาณ 20-40 นาที

Advertisement

“สำหรับการดำเนินการรับสายที่โทรเข้ามา จนถึงวันที่ 21 เมษายน 2564 รวม 3,477 สาย โทรเยี่ยมติดตาม 3,277 สาย ผู้ติดต่อขอเตียง 1,584 คน รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว ทั้งนี้ กรณีที่โทร.1668 แล้วไม่มีผู้รับสายนั้น เกิดจากแต่ละวันมีผู้ใช้จำนวนมาก โดยปัจจุบันมีผู้โทรเข้า 1668 มากกว่า 200 สาย จนทำให้คู่สายล้น ทางกรมการแพทย์ได้จัดให้มีการส่งต่อข้อมูล ด้วยเทคนิค convert สายเข้าโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของจิตอาสาจากทั่วประเทศ ทำให้สามารถรับสายเพิ่มได้อีกกว่า 10 คู่สาย ทั้งนี้ หากไม่สามารถติดต่อ 1668 ได้ ขอให้ติดต่อทางแอพพลิเคชันไลน์ โดยการเพิ่มเพื่อน Line @sabaideebot กรอกข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประสานติดต่อเจ้าหน้าที่อีกทาง” นพ.สมศักดิ์ กล่าและว่า กรมการแพทย์ยืนยันว่ามีการปรับปรุงระบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรวดเร็วขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image