‘กรมอนามัยยุคใหม่’ทิ้งระบบราชการแบบเดิมๆ

“หน่วยงานราชการทำงานช้า เพราะขั้นตอนเยอะแยะ…”

“หากปฏิรูปหน่วยงานราชการ ให้ทำงานเชิงรุกจริงๆ คงดี…”

ตัวอย่างมุมมองประชาชนต่อระบบราชการ ที่มักมองว่าราชการทำงานช้า ขั้นตอนเยอะ เป็นอุปสรรค จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ หน่วยงานเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป “กรมอนามัย” ในกระทรวงสาธารณสุข เป็นอีกหน่วยงานราชการที่ทำงานด้านส่งเสริมและป้องกันโรค ที่ถูกตั้งคำถามเช่นกัน…

ยิ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อยากให้สุขภาพแข็งแรง ร่างกายสูง รูปร่างดีสมส่วน แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาการทำงานอาจยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

Advertisement

201608261543262-20050719124019

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นำข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรม ร่วมประกาศปฏิรูปองค์กรแนวใหม่ทำงานเชิงรุกพร้อมกับบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อทำงานเชิงรุก ให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และได้จัดตั้ง “สำนักบริหารการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งมี นพ.ศักดา อัลภาชน์ เป็น ผอ.

นพ.วชิระบอกว่า หากย้อนไปในอดีต กรมอนามัย ถือเป็นกรมวิชาการที่เข้มแข็ง มีระบบการเฝ้าระวังจนพบว่าประเทศไทยประสบปัญหาการเกิดมากเกินไป โดยตั้งแต่ปี 2506 เด็กเกิดมากกว่า 1 ล้านคน และมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้นำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล เพื่อหาทางออก จนรัฐบาลทราบปัญหา และเกิดการวางแผนครอบครัวขึ้น ขอให้มีลูกไม่เกิน 2 คน จากเดิมมีลูกกันสูงถึง 6 คนต่อครอบครัวทีเดียว

“ผมมีแนวคิดในการปฏิรูปกรมอนามัยรูปแบบใหม่ หลุดจากการทำงานรูปแบบข้าราชการเดิมๆ เนื่องจากกรมในฐานะกรมวิชาการ ต้องทำการศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัยของคนไทย แต่ปรากฏว่ากลับไม่มีการเฝ้าระวังระบบสุขภาพของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรมเลย ทั้งที่ปัจจุบันพบว่าคนไทยเกิดน้อย แถมด้อยคุณภาพ เห็นได้จากผลสำรวจข้อมูลอัตราการเกิดต่ำกว่า 700,000 คน เนื่องจากอัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่สัดส่วน 1.6 ซึ่งไม่เพียงพอ  สิ่งเหล่านี้จึงต้องมีการศึกษาว่าเพราะอะไร เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในองค์กรยังติดทำงานรูปแบบเดิม ไม่มีทิศทางที่แน่ชัดว่าจะต้องเดินไปทางไหน ประกอบกับยุคสมัยเปลี่ยน ปัญหาใหม่ แต่คนอาจจะยังติดรูปแบบเดิมๆ จึงต้องมีการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงภายในองค์กรก่อน” นพ.วชิระกล่าว

การจะปรับรูปแบบการทำงาน ต้องให้องค์กรทราบก่อนว่าจะมุ่งเน้นทางไหน เพราะปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย นอกจากเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องของการเติบโตอย่างมีคุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องทำทุกกลุ่มวัย นพ.วชิระจึงปรับรูปแบบการทำงานให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มต้นมุ่งเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของ 5 กลุ่มวัยคือ สตรีและเด็กปฐมวัย (0-5 ปี) กลุ่มเด็กวัยเรียน (6-14 ปี) เด็กวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มสูงอายุ

อย่างการจะทำให้เด็กไทยสูงสมวัย มีสุขภาพดีจะต้องทำอย่างไร ก่อนอื่นต้องตั้งธงไว้ว่าเด็กไทยจะเจริญเติบโตได้จากโกรทฮอร์โมนส์ (Human Growth hormones) ซึ่งช่วงอายุที่ถือเป็นช่วงเร่งการเจริญเติบโต ในเด็กผู้หญิงจะอยู่ที่อายุ 11-12 ปี เด็กผู้ชายอยู่ที่อายุ 12-13 ปี แต่กลับไม่เคยบำรุงเด็กในช่วงวัยดังกล่าว จึงเป็นการพลาดโอกาส เพราะหากทำจะทำให้มีโอกาสสูงเฉลี่ยได้ถึง 9 เซนติเมตร แต่ความเป็นจริงไม่มีการทำจุดดังกล่าว จึงสูงเฉลี่ยแค่ 4-5 เซนติเมตร ขณะที่ผู้สูงวัยอายุ พบว่าอายุยืนน้อยลง ปัจจุบันเฉลี่ย 75 ปี ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยอายุยืนขึ้นแค่ 1 ปี จึงตั้งเป้าว่า 20 ปีผู้สูงอายุต้องมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี

จากเป้าหมายเหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละสำนักของกรมฯ ต้องหาโครงการ หรือทำงานมารองรับโจทย์ที่ตั้งไว้

นพ.วชิระยังบอกว่า การเปลี่ยนแปลงองค์กร ต้องเน้น 3 เรื่อง คือ 1.Lead : ยกระดับกรมมีการกำหนดกลไกขับเคลื่อน การพัฒนานโยบาย และยุทธศาสตร์ สู่การบรรลุเป้าหมายและการกำกับติดตามประเมินผล 2.Lean : ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานหลัก ให้สอดคล้องกับภารกิจหลัก ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ผลงานไม่ชัดเจน เรียกว่าลดงานและกระบวนการที่ไม่สร้างคุณค่า และ 3.Learn : สร้างความมุ่งมั่นในบุคลากรทุกระดับทั่วทั้งกรม

“ถึงเวลาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สังคมรู้ว่าหน่วยงานราชการต้องหลุดจากรูปแบบเดิมๆ อย่างกรมอนามัย เจ้าหน้าที่น้อย คนน้อย งบประมาณน้อย จึงต้องทำงานตามบทบาทที่แท้จริง ไม่ใช่ทำงานตั้งรับ แต่ต้องทำงานเชิงรุก ต้องรู้ปัญหาของสังคม อย่างปัญหาของแต่ละกลุ่มวัย เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเร็วตามยุคสมัย กรมต้องรู้เท่าทัน และทำการศึกษาหาข้อมูลวิชาการเพื่อมายืนยันปัญหาต่างๆ ซึ่งต่อไปผมจะสนับสนุนการทำงานภายใต้แนวคิดนี้ หากไม่ทำก็ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน” นพ.วชิระกล่าวทิ้งท้าย

ลองมาดูว่ากรมอนามัยจะเป็นกรมต้นแบบที่ละทิ้งการทำงานแบบข้าราชการรูปแบบเดิมๆ เพื่อประชาชนได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image