แพทย์ออกโรงเตือน! อย่าทดสอบสารก่อ ‘ภูมิแพ้’ ห่วงกรณีเด็กกิน ‘เต้าหู้ไข่’ ซ้ำเสี่ยงอันตราย

เป็นประเด็นในโลกออนไลน์ภายหลังมีการเผยแพร่คลิปภาพที่ถูกแอบถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ เป็นภาพเหตุการณ์ กรณีเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านลำหาด ต.ทัพทัน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ นักเรียนมีอาการป่วยแล้วไปรักษาที่ โรงพยาบาลสังขะ แพทย์วินิจฉัยว่าแพ้อาหาร พอครูทราบเรื่องว่าเด็กมาพูดทำให้เสียหายเกี่ยวกับอาหารกลางวัน จึงเรียกให้เด็กนักเรียนหญิงคนดังกล่าวมากราบขอขมาบริเวณหน้าเสาธงต่อหน้า นักเรียนหลายร้อยคน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ ต่อมาครูรายดังกล่าวได้ระบุว่า มีการให้เด็กทดลองรับประทานเต้าหู้ เพื่อทดสอบว่าแพ้จริงหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าไม่มีอาการแสดงออกที่ผิดปกติ จึงให้เป็นเหตุให้เด็กก้มกราบตามที่เป็นข่าวนั้น

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก ยิ่งในคนที่มีประวัติการแพ้อาหาร สารเคมี หรือสิ่งใดก็ตามที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ไม่ควรให้มีการใช้ หรือทดลองกินซ้ำอีก เพราะจะเสี่ยงเกิดอาการช็อก และอาจเสียชีวิตได้ หรือแม้แต่ไม่มีประวัติว่าแพ้อาหารหรือสารเคมีชนิดนี้ แต่หากสงสัยก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะเราไม่มีทางทราบว่า หากมีอาการแพ้ แม้จะทดลองเพียงเล็กน้อยก็เกิดผลกระทบได้ไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันโรคภูมิแพ้ควรปฏิบัติตนดังนี้ หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างเรื่องอาหารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่ายก็ควรหลีกเลี่ยง เช่น กุ้ง ปู หอยทะเลต่างๆ ที่สำคัญหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ลดอาการภูมิแพ้ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า จากสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย พบ โรคภูมิแพ้ในเด็กไทยสูงถึงร้อยละ 38 และพบในผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 20 ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึง 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลัก คือ กรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง คนในเมืองอยู่บ้านมาก ไม่ออกกำลังกายทำให้ร่างกายอ่อนแอ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย เด็กกินนมแม่น้อยลง รับประทานอาหารจานด่วนมากขึ้น ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เป็นต้น ทั้งนี้ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายมีความผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ตัวไรฝุ่น เชื้อราในอากาศ อาหาร ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งในร่างกายคนปกติจะแพ้สารก่อภูมิแพ้ได้น้อยมากหรืออาจจะไม่มีอาการ

ส่วนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แต่ละรายจะมีอาการเกิดขึ้นแตกต่างกันและรุนแรงไม่เท่ากัน แม้จะเป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันก็ตาม ขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของอวัยวะนั้นๆ เช่น เกิดขึ้นบริเวณจมูกทำให้เกิดโรคแพ้อากาศ อาการจาม คันจมูก คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ น้ำมูกไหล หากเกิดขึ้นบริเวณหลอดลม จะมีอาการ ไอ แน่นหน้าอก หอบ หายใจขัดหรือหายใจเร็ว บริเวณผิวหนังทำให้มีอาการคัน มีผดผื่นตามตัว ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ด หรือมีน้ำเหลือง หากเกิดกับระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดการแพ้อาหาร จะมีอาการ อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืดหรือแพ้อากาศ หรือผิวหนัง เช่น ผื่นคันหรือลมพิษร่วมด้วย โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ไม่หายขาด แต่เป็นโรคที่มีความแปรปรวนในตัวเองสูง บางทีอาการอาจจะหายเกือบสนิท แต่ถ้าไม่ดูแลสุขภาพหรือมีสิ่งมากระทบ อาการแพ้ก็อาจจะกลับมาใหม่ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image