รองผบ.ตร. สั่งทุกหน่วย ตรึงเข้มแนวชายแดน ป้องกันขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

รองผบ.ตร. สั่งทุกหน่วย ตรึงเข้มแนวชายแดน ป้องกันขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีรายงานว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ในฐานะผอ.ศปม.ตร. ได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ศปม 5.31/183 ถึง ผบช.น. ภ.1-9 ก. สตม. ตชด. และ สยศ.ตร. ใจความว่า

ตามข้อสั่งการในการประชุม ศปก.ศบค. ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ให้ ศปม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน โดยให้จัดลำดับความสำคัญตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ประเทศมาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และ ลาว ตามลำดับ เพื่อให้การปฏิบัติตามข้อสั่งการของ ศปก.ศบค. ในกรณีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ทุกหน่วยดำเนินการ ดังนี้

ให้ประชุมวางแผนร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความเข้มในการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ให้เพิ่มความเข้มการเฝ้าระวังและสกัดกั้นคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ช่องทางธรรมชาติ รวมทั้งการตั้งจุดตรวจพื้นที่แนวชายแดนและจุดตรวจสกัดกั้นพื้นที่ตอนใน

Advertisement

ให้จัดทำแผนสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่เป็นรูปธรรมในภาพรวมของ บช./ภ.และลงรายละเอียดระดับ บก./ภ.จว. โดยให้มีการวิเคราะห์จุดยุทธศาสตร์ เพื่อตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ที่สามารถครอบคลุมการสกัดกั้นการลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรทั้งทางเท้า ทางรถ และทางน้ำ มีการจัดกำลังพลปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นยานพาหนะให้เพียงพอได้ตลอด 24 ชม. ขณะปฏิบัติหน้าที่ต้องจัดให้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวชนิดที่สามารถดูภาพได้แบบบัจจุบัน (Real time) เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ได้มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด เรื่องแนวทางการกักกันแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะ ของ บช.ตชด. ถึง ผบช.น. ภ.1-9 ก. ตชด. สตม. ส. ทท. ปส. สอท. สงป. และ สยส.ตร. ใจความว่าด้วย ครม.มีมติ เมื่อ 16 มีนาคม 2564 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดตั้ง Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าว และผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของ บช.ตชด. ตร. จึงได้กำหนดแนวทางการกักกันแรงงานต่างด้าว และผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร ของ บช.ตชด. ดังนี้ ให้สถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร ของ บช.ตชด.จำนวน 14 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ดังนี้ จันทบุรี, สระแก้ว, หนองคาย, เชียงราย, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ระนอง และสงขลา

ส่วนการนำตัวคนต่างด้าวและคนสัญชาติไทยที่ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เข้ากักกันในสถานที่กักกันฯให้ ผบก.ภ.จว. ในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบ โดยร่วมกับ ตม.จว. และกองร้อย-กก.ตชด. ขออนุมัติการดำเนินการตามแนวทางนี้ต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งรองรับ เพื่อใช้แนวทางการกักกัน กรณีที่มีการจับกุมคนต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ในพื้นที่จังหวัดให้ดำเนินการดังนี้

Advertisement

กรณีจับกุม โดยกล่าวหาว่า เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เพียงข้อหาเดียว อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้ผลักดันออกนอกราอาณาจักร โดยไม่ต้องดำเนินคดีตามหนังสือ ตร. ที่ 0022.122/1670 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2541 โดยให้ผู้จับส่งตัวผู้ถูกจับเข้ากักกันในสถานที่กักกันทันที และให้ผู้จับดำเนินการลง ป.จ.ว. ที่สถานีตำรวจท้องที่ที่จับกุมไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ในการจับด้วย เมื่อครบระยะเวลากักกันตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดแล้ว ให้สถานที่กักกันประสานแจ้ง ตม.จว.เพื่อดำเนินการผลักดันคนต่างด้าวดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักร แต่หากยังไม่สามารถผลักดันได้ให้ ตม.จว. ดำเนินการประสานกับสถานที่กักกัน เพื่อดำเนินการกักตัวคนต่างด้าว รายดังกล่าวเพื่อรอการส่งกลับตามนัย ม.54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2532 และคำสั่ง สตม. ที่ 124/2564 ลง 30 เมษายน 2564 ต่อไป

สำหรับกรณีจับกุม โดยกล่าวหาว่า เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาอื่นๆ ด้วย และความผิดนั้น ต้องระวางโทษที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือศาลอาญา-ศาลจังหวัด ให้ดำเนินการดังนี้ ให้ผู้จับนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลาง(ถ้ามี) ส่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากมีการปล่อยตัวชั่วคราวให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปยังสถานที่กักกันทันที กรณีไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปยังสถานที่กักกันโดยเร็ว และยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง-ฝากขังต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในลักษณะการประชุมทางจอภาพหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขังผู้ต้องหาในสถานที่กักกันตามคำสั่งศาลเป็นประการใดให้ปฏิบัติตามนั้น ก่อนครบระยะเวลาการกักกันตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดแล้ว ให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังที่เรือนจำต่อไป

เมื่อการดำเนินคดีเสร็จสิ้น ให้ดำเนินการส่งตัวคนต่างด้าวให้ ตม.จว. ตามหนังสือคำสั่ง ตร. ในแนวทางปฏิบัติกรณีคนต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือถึงแก่ความตายโดยผิดธรรมชาติ เพื่อดำเนินการผลักดันคนต่างด้าวดังกล่าว ออกนอกราชอาณาจักร หากยังไม่สามารถผลักดันได้ให้ ตม.จว. พิจารณาเหตุจำเป็นในการประสานกับสถานที่กักกันเพื่อดำเนินการกักตัวคนต่างด้าวรายดังกล่าว รอการส่งกลับตามนัย ม.54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และคำสั่ง สตม. ที่ 124/2564 ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 ต่อไป

กรณีจับกุมคนสัญชาติไทยลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ให้ดำเนินการ ดังนี้ กรณีคนสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าทางช่องทางที่กำหนด ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ให้ทำการจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการ ดังนี้ กรณีผู้ต้องหายินยอมชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ และชำระค่าปรับเสร็จสิ้นแล้ว ให้นำตัวส่งสถานที่กักกัน กรณีผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ หรือยินยอมชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนกำหนดแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับในขณะนั้น ให้พนักงานสอบสวนถามชื่อ ที่อยู่ และคำให้การแล้วให้นำตัวส่งสถานที่กักกันแล้วดำเนินคดีต่อไปในภายหลัง

กรณีคนสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าทางช่องทางที่กำหนดและกระทำความผิดในข้อหาอื่นๆ ด้วย และความผิดนั้น ต้องระวางโทษที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือศาลอาญา,ศาลจังหวัด ให้ดำเนินการเช่นเดียวกันโดยให้ผู้จับหรือพนักงานสอบสวน แจ้งข้อมูลของคนต่างด้าวหรือคนสัญชาติไทย พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องตามแบบรายงาน 1 ไปยัง สถานที่กักกัน

การจับกุมคนต่างด้าว ในกรณีอื่นๆ นอกจากข้อ 2 ให้ทุกหน่วยดำเนินการตามนัยหนังสือ ตร. ที่ 029.132/ว87 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีคนต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือถึงแก่ความตายโดยผิดธรรมชาติ

การกักกันแรงงานต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงระหว่างประเทศ (MOU)หรือแรงงานตามฤดูกาล ให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด หากพบว่าแรงงานต่างด้าวดังกล่าวกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้ ตม.จว. ดำเนินการส่งตัวแรงงานต่างด้าวเข้ากักกันในสถานกักกัน แล้วผลักดันออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

ใน จว.อื่นนอกจาก 10 จังหวัด หาก สตม. พิจารณาเห็นว่าก่อนส่งตัวคนต่างด้าวกลับประเทศต้นทางควรจะกักตัวในสถานที่กักกันให้ประสานสถานที่กักกันนั้นๆ เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาเป็นกรณีไป เพื่อดำเนินการตามนัย ม.54 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และคำสั่ง สตม. ที่ 124/2564 ลงวันที่ 30 เมษายน 64 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image