“ป้อมมหากาฬ” ลุ้น! กรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ฯ เห็นชอบทบทวนแผนใหม่แล้ว รับของเดิมล้าสมัย คาดเริ่มหลังต.ค.

ภาพเล็ก-รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะ คณะอนุกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะ คณะอนุกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าจากการประชุมครั้งล่าสุด ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า แผนเดิมเมื่อหลายสิบปีก่อนมีความล้าสมัยแล้ว เนื่องจากแนวนโยบายเดิม เน้นเพียงความสวยงาม ไม่ได้เน้นเรื่องคน จึงมีความคิดที่จะทบทวนและจัดทำแผนอนุรักษ์และพัฒนาขึ้นใหม่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้หลังต.ค.นี้ซึ่งเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่

“ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป แนวทางการอนุรักษ์แตกต่างจาก 20-30 ปีก่อน โดยจะมีการทบทวนและวางแผนอนุรักษ์ใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดพื้นที่ด้วย เพราะสมัยนี้คนไม่ได้คิดว่ากรุงรัตนโกสินทร์สิ้นสุดแค่คลองบางลำภู หรือคลองโอ่งอ่าง แต่ตอนนี้กรอบงบประมาณยังไม่ลงมา ซึ่งขั้นตอนจะไปผูกพันกับการจัดทำแผนโครงการของภาครัฐ กระบวนการคือ พอมีการประชุมแล้วเห็นชอบว่าน่าจะมีการทบทวนแผนใหม่ ก็นำเสนอขึ้นเป็นกรอบประมาณในหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นฝ่ายเลขา คือสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสร็จแล้วทางรัฐบาลก็จะจัดสรรงบประมาณลงมา แล้วต้องคอยจนถึงปีงบประมาณ ถ้าจำไม่ผิดคือหลังเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นงบประมาณของการดำเนินการนี้”

รศ.ดร.ยงธนิศร์ กล่าวอีกว่า แผนแม่บทเดิมนั้น เกิดจากความต้องการปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงามและป้องกันการสร้างตึกสูง แต่ระยะเวลาที่ผ่านมามีชุมชนหลายแห่งที่ดูแลโบราณสถานหรือสิ่งที่มีคุณค่าในเมืองได้ คำว่าดูแลในที่นี้หมายถึงการใช้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป การอนุรักษ์อาจไม่จำเป็นต้องทำสวนสาธารณะโดยเคลียร์ทุกอย่าง เพราะนักวิชาการรุ่นใหม่มองว่าล้าสมัย และทำให้เกิดปัญหามากมาย มีกระแสและแรงกดดันค่อนข้างมาก

“ลักษณะการทำงานของคณะอนุกรรมการกรุงฯ พอมีการกำหนดกรอบแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บทนั้น ในส่วนของกทม.จึงปฏิบัติตามแผนแม่บท ซึ่งถูกกำหนดขึ้นจากภาครัฐ ก็ถูกกฎหมายไม่ว่าจะผ่านกี่ศาล เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่คณะอนุกรรมการกรุงฯ กลั่นกรอง ไม่ใช่เป็นเรื่องให้พิจารณา แต่เป็นการแจ้งว่ากทม.กำลังดำเนินการตามนี้อยู่ เพราะฉะนั้น ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น กทม. คงหาเหตุผลได้ตลอดว่ามีความชอบธรรมในการรื้อ แต่ในการดำเนินงานหลังจากนั้น ถ้ากทม.มีแนวนโยบายว่าจะบริหารจัดการพื้นที่ สามารถทำได้หลายวิธี ที่มักใช้กันและตอนนี้ทางภาคประชาชนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ คือ กทม. เป็นผู้จัดการพื้นที่เองทั้งหมด ตั้งแต่เคลียร์พื้นที่ ตั้งงบประมาณ ว่าจ้างผู้รับเหมาให้มาดำเนินการ และอื่นๆ แต่มีอีกวิธีการหนึ่งซึ่งในแผนแม่บทฉบับเดิมไม่มี คือกรอบของการบริหารจัดการพื้นที่ซึ่งอาจไม่ใช่รัฐฝ่ายเดียว ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการสร้างสวนสาธารณะบริเวณทางรถไฟเก่า เทศบาลนครนิวยอร์กซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ให้สัมปทานกลุ่มองค์กรเอกชน เพราะมั่นใจว่าสามารถดูและและบริหารพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจติดขัดเรื่องกฎหมายและวิสัยทัศน์ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไมได้คิดจะทำ อย่างกทม. ซึ่งยังไม่มีแนวคิดนี้ จึงใช้วิธีการเดิมคือจ้างผู้รับเหมามาทำสวนสาธารณะ บริหารและมียามเฝ้าโดยชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม” รศ.ดร.ยงธนิศร์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image