สธ.ห่วงคนท้องติดโควิด เสี่ยงอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป พบ 126 ราย ปอดอักเสบ 22%

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรง ย้ำระมัดระวังและดูแลตนเองเป็นพิเศษ สมาชิกในบ้านควรให้ความสำคัญช่วยปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อ เผย ตัวเลขติดเชื้อ 126 ราย ปอดอักเสบ 22.22% เสียชีวิต 2 รายในระหว่างไตรมาส 2 ของครรภ์ ชี้ เอกซเรย์ปอดหาภาวะปอดอักเสบได้ ใช้ยาต้านไวรัส ได้เหมือนคนทั่วไป หลังอายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงควรระมัดระวังตนเอง งดออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น แยกใช้ของร่วมกันกับคนในบ้าน หมั่นล้างมือ สมาชิกในบ้านควรให้ความสำคัญคิดไว้เสมอว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องปกป้องการสัมผัสเชื้อ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ และผู้เสี่ยงต่ำ ให้แยกตัวและเฝ้าสังเกตอาการ พร้อมทั้งรอฟังผลการตรวจของผู้สัมผัสใกล้ชิด หากมีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก ควรรีบพบแพทย์ทันที

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 พ.ค. พบ 126 ราย เป็นหญิงไทย 64 ราย หญิงต่างด้าว 62 ราย จังหวัดที่พบสูงสุด ได้แก่ สมุทรสาคร 66 ราย กรุงเทพมหานคร 10 ราย และนนทบุรี 7 ราย โดยมีอาการปอดอักเสบในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ร้อยละ 22.22 เสียชีวิต 2 ราย มีทารกติดเชื้อ 10 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 อาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ไม่มีโรคประจำตัว โดยมีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์ รายแรกติดเชื้อจากการเข้าไปในสถานที่แออัด ส่วนอีกรายติดจากคนในครอบครัว

“สำหรับการถ่ายภาพรังสีปอดเพื่อตรวจหาภาวะปอดอักเสบ สามารถทำได้ในหญิงตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย การใช้ยาต้านไวรัส สามารถใช้ได้เหมือนคนทั่วไป ยกเว้นในการตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก แพทย์จะพิจารณายาต้านไวรัสตัวอื่นที่ไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ อาการไม่รุนแรงมากสามารถให้นมลูกได้ แต่จะต้องเข้มงวดในมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากตลอดเวลา หมั่นล้างมือ ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้า ปาก และจมูกของลูก ที่สำคัญคืออย่าเผลอชื่นชมหอมแก้มลูก และขณะไม่ได้ให้นมลูกแนะนำให้นอนแยกกันเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร หรือมีฉากกั้น แต่อยู่ในห้องเดียวกันได้ ในกรณีที่ไม่สามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ แนะนำให้บีบน้ำนมและให้ผู้ช่วยป้อนแทน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image