กทม.เฝ้าระวัง “ไวรัสซิกา” ใกล้ชิด เผยยังติดตามอาการหญิงท้องอีก 2 ราย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน นางเบญทราย กียปัจจ์ รองโฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า สำนักอนามัย กทม.ได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 4 กันยายน ซึ่งพบมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่ 8 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่มีถิ่นฐานในกรุงเทพฯ และมีประวัติเดินทางไปในจังหวัดที่มีการระบาดของโรค และกลุ่มที่เดินทางมาจากจังหวัดที่มีการระบาดและพักในพื้นที่กรุงเทพฯ ในจำนวนนี้หายเป็นปกติแล้ว 6 ราย ส่วนอีก 2 ราย ยังต้องติดตามอาการและสถานการณ์ เนื่องจาก 1 ราย เป็นหญิงท้องปัจจุบันคลอดแล้ว ทารกแข็งแรงดี ไม่พบความผิดปกติ ตรวจเลือด ปัสสาวะไม่พบเชื้อ แต่ก็ยังต้องติดตามผลเลือด และอีก 1 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ กทม.ได้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์และอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควบคุมยุงตัวแก่และกำจัดลูกน้ำในพื้นที่เป้าหมาย

นางเบญทราย แถลงอีกว่า กทม.ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างใกล้ชิด ครอบคลุมทุกด้าน พร้อมทั้งฝึกอบรมบุคลากรทีมสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วจากทุกศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งข่าวไว้ทุกระดับ พร้อมทั้งจัดทำหนังสือแจ้งเตือน เผยแพร่องค์ความรู้ แนวทางการดำเนินงานดำเนินงานเฝ้าระวังและสอบสวนโรคแก่ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานพยาบาลในกรุงเทพฯ และสำนักงานเขต เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ประชาชนเพื่อป้องกันโรคโดยเฉพาะการป้องกันยุงกัดในหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงประสานด้านการเฝ้าระวังและควบคุมโรคกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อพบผู้ป่วยในพื้นที่ กทม.จะกำหนดพื้นที่เป้าหมายรัศมี 100 เมตร จากบ้านและที่ทำงาน/โรงเรียนของผู้ป่วย เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำ ภายใน 5 วัน และควบคุมโรคให้ได้ภายใน 14 วัน พร้อมทั้งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในชุมชน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน เก็บตัวอย่างส่งตรวจ และเฝ้าระวังผู้ที่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายทุกคนเพื่อติดตามอาการ 14 วัน และหากพบหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เป้าหมาย กทม.จะให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ติดตามเฝ้าระวังการติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยส่งตรวจปัสสาวะส่งตรวจทุก 14 วัน จนกว่าการระบาดในพื้นที่จะสงบ นอกจากนี้ กทม.จะดำเนินการกำจัดยุงทั้งในบ้านและนอกบ้านตั้งแต่วันแรก และทำซ้ำในวันที่ 3, 5, 7, 14, 21, 28 และทำต่อเนื่องทุก 7 วัน จนกว่าผลการตรวจจะไม่พบเชื้อซิกา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image