ถึงไทยแล้ว ‘ทับหลังปราสาทหนองหงส์’ และ ‘ปราสาทเขาโล้น’ เตรียมจัดพิธีบวงสรวง 31 พ.ค.นี้

ถึงไทยแล้ว ‘ทับหลังปราสาทหนองหงส์’ และ ‘ปราสาทเขาโล้น’ เตรียมจัดพิธีบวงสรวง 31 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม หลังจาก “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” จ.บุรีรัมย์ และ “ปราสาทเขาโล้น” จ.สระแก้ว ที่สหรัฐอเมริกาส่งคืนให้ไทย ได้เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิอย่างปลอดภัยแล้วเมื่อเย็นวันที่ 28 พฤษภาคม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม กลุ่มเผยแพร่ฯกรมศิลปากร โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 18.30 น. ทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น เดินทางกลับถึงประเทศไทย อย่างปลอดภัย”

“นับเป็นเวลามากกว่า 50 ปี ที่ทับหลังทั้งสองของไทยได้จากถิ่นกำเนิดไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา ในวันนี้ทับหลังทั้งสองได้เดินทางกลับมาถึงไทยแล้ว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีบวงสรวงต้อนรับทับหลังทั้ง 2 รายการ ในวาระที่ได้กลับคืนมาสู่ประเทศไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร โดยจะเตรียมการจัดพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการต่อไป เร็วๆ นี้”

ด้านนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เมื่อทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น มาถึงจะเก็บไว้ในคาร์โก้ที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อน เนื่องจากติดวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะต้องมีการประสานกับหลายภาคส่วน ทั้งกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่คาร์โก้ ฯลฯ จากนั้นเวลา 13.00 น.วันที่ 31 พฤษภาคม จะนำทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพโบราณวัตถุเบื้องต้น และนำขึ้นแท่นพิธีบวงสรวง จากนั้นนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการวัฒนธรรม (วธ.) จะเดินทางมาถึง พช.พระนคร เวลา 15.50 น. เพื่อร่วมพิธีบวงสรวงต้อนรับทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น ในเวลา 17.00 น.

Advertisement

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า ส่วนกระแสเรียกร้องให้นำกลับไปเก็บรักษาไว้ยังโบราณสถานที่ท้องถิ่นดูแลนั้น เรื่องนี้คงต้องมองสองมุม อย่างในช่วงที่ไทยได้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรมย์ คืนมาและนำไปเก็บรักษาไว้ในโบราณสถานถิ่นกำเนิด เพราะมีการบริหารจัดการและมีเจ้าหน้าที่ดูแล ขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย เรื่องสภาพแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อชิ้นงาน ส่วนทับหลังทั้งสองชิ้นยังไม่มีระบบการบริหารจัดการและเจ้าหน้าที่ดูแลที่เหมาะสม ดังนั้นจึงต้องพิจารณาข้อดี ข้อเสียให้รอบด้าน แต่เบื้องต้นคิดว่า การเก็บรักษาไว้ใน พช.พระนคร และทำแบบจำลอง เพื่อให้ท้องถิ่นนำไปจัดแสดง เป็นแนวทางที่ดี และสามารถเก็บรักษาโบราณวัตถุได้ดีกว่า

ด้าน รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า จากกรณีที่กรมศิลปากรเตรียมจัดแสดงทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นเวลา 3 เดือนนั้น ส่วนตัวมองว่า เนื้อหาอาจต้องเริ่มต้นก่อนว่า เรื่องของสมบัติทางวัฒนธรรมของแผ่นดินมีความสำคัญอย่างไร หลังจากนั้น ควรเป็นการพูดถึงกระบวนการต่างๆ ที่กว่าจะได้มา จำเป็นต้องพูดถึงประเด็นที่ว่า สมบัติของชาติ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมบัติของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นของประชาชนด้วย ดังนั้นคนทั่วไปก็สามารถเข้ามามีส่วนในการอนุรักษ์

Advertisement

“เมื่อจัดแสดงครบ 3 เดือนแล้ว ไม่อยากให้เก็บเข้าไปไว้ในคลัง เพราะทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ไมได้มีคุณค่าเฉพาะในแง่ของประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีแต่มีคุณค่าในเรื่องของความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรทางวัฒนธรรม” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทับหลังปราสาทหนองหงส์-ปราสาทเขาโล้น ถึงไทยแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image