กระทรวงแรงงานเล็งกำหนดอัตรา “ค่าจ้างตามฝีมือ” เพิ่ม 12 สาขา เริ่มตุลาคมนี้

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “ร่างอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 12 สาขาอาชีพ” ว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะทำให้ลูกจ้างมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการมีคุณภาพ ที่สำคัญลูกจ้างและนายจ้างได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เชื่อว่านายจ้างมีความพร้อมจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่มีฝีมือ ดังนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำหนดสมรรถนะความสามารถในสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ ซึ่งหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใน 12 สาขาอาชีพ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม แล้ว จะนำรายละเอียดเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถประกาศบังคับใช้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน มีผลบังคับใช้แล้วใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 55 สาขา อาทิ ช่างซ่อมรถยนต์ ผู้ประกอบอาหาร ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นต้น มีอัตราค่าจ้าง ตั้งแต่ 320-775 บาท ตามระดับความสามารถ สำหรับ 12 สาขาอาชีพ ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเขียนแบบเครื่องกล/ช่างเชื่อมทิกสำหรับอุตสาหกรรมจักรกลและโลหะการ/ช่างเทคนิคระบบส่งกำลัง/ช่างเทคนิคไฮโดรลิก 2.อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 4 สาขา คือ ช่างเชื่อมระบบท่อในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น/ช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่/ช่างเทคนิคห้องเย็นขนาดเล็ก/พนักงานประกอบเครื่องปรับอากาศ 3.อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ 4 สาขา คือ ช่างเทคนิคเครื่องกัดอัตโนมัติ /ช่างเทคนิคเครื่องอีดีเอ็ม/ช่างเทคนิคเครื่องไวร์คัดอีดีเอ็ม/และช่างขัดเงาแม่พิมพ์ โดยมีร่างอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 385-550 บาท ในมาตรฐานฝีมือ 2 ระดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image