จิตแพทย์แนะอย่า “ชม-แชร์” ถ่ายทอดสดฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 6 กันยายน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีหนุ่มผูกคอตายผ่านโปรแกรมเฟชบุคไลฟ์ เนื่องจากน้อยใจแฟน ว่า การถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตายถือเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจอย่างมาก จากการทบทวนงานวิจัยก่อนหน้านี้มีรายงานว่า แม้รับรู้เพียงข้อมูลผ่านตัวหนังสือหรือผ่านการรายงานข่าวทั่วไป ก็สามารถเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายเลียนแบบ (copycat suicide) ได้แล้ว เพราะฉะนั้นการรับรู้แบบสดผ่านทางโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ยิ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นกว่านั้นได้มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นญาติหรือผู้ใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตเป็นผู้รับชมเอง

นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า การรับชมภาพสดเช่นนี้ จะก่อให้เกิดผลได้ 2 ประการ คือ 1.เกิดการเรียนรู้วิธีการฆ่าตัวตายลักษณะนี้ สำหรับคนที่เมื่อก่อนอาจมีความคิดอยากตายเฉยๆ แต่ไม่คิดวิธีการ เมื่อได้รับชมภาพสด ก็จะเกิดการเรียนรู้วิธีการเหล่านั้นได้ 2.เกิดการรับรู้ว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกแบบหนึ่ง สำหรับคนที่ไม่เคยคิดฆ่าตัวตายเลย แต่มีปัญหาทุกข์ใจคล้ายๆ กันกับผู้เสียชีวิต มีอายุ มีอาชีพ หรือการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ก็ยิ่งส่งผลกระตุ้นให้เกิดความคิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบได้ง่ายมากขึ้น

“หากเราได้รับชมภาพเหล่านี้โดยบังเอิญ เราควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้รุดไปยังที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด จากนั้นไม่ควรติดตามการถ่ายทอดสดนั้นต่อจนจบ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของตนเองได้ในอนาคต ไม่ควรแชร์ หรือบอกต่อเพื่อนๆ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะพอ เนื่องจากอาจยังไม่สามารถแยะและไม่ได้ระมัดระวังในการรับสื่อ อาจเข้าใจผิดได้ว่า การทำร้ายตัวเองเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องมีเหตุผลมาก โดยที่ยังไม่รับรู้เหตุการณ์เบื้องหลังทั้งหมด หากผู้ที่ได้รับชมโดยบังเอิญหรือญาติของผู้เสียชีวิตที่รับชมนั้น เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ วิตกกังวลมากขึ้น ฯลฯ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากหน่วยงานด้านสุขภาพจิตที่อยู่ใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด หรือ อาจโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง” นพ.วรตม์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image