ฮาร์วาร์ดตั้งกก.สอบ’ดลฤดี’แล้ว ‘มหิดล-สกอ.’ฟ้องศาลให้ชดใช้ ‘ดาว์พงษ์’นัดคุยคลังล้อมคอก

ทพ.เผด็จโพสต์แฉฮาร์วาร์ดตั้ง กก.สอบ “ทพญ.ดลฤดี”แล้ว อธิการฯ มม.ลั่นพร้อมไปให้ข้อมูล ยันกัดไม่ปล่อย ชี้ครูอาจารย์หนีหนี้เป็นตัวอย่างไม่ดีของสังคม คนไทยถล่มเฟซฮาร์วาร์ด ทำคะแนนนิยมลดฮวบ

กรณีทันตแพทย์ (ทพ.) เผด็จ พูลวิทยกิจ ทันตแพทย์คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี 1 ใน 4 ผู้ค้ำประกันทันตแพทย์หญิง (ทพญ.) ดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ขอทุนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊กกรณีต้องชดใช้หนี้ 2 ล้านบาท จากการเซ็นค้ำประกันให้ ทพญ.ดลฤดี หลังจากที่ ทพญ.ดลฤดีเรียนจบแล้วไม่ยอมกลับมาทำงานใช้ทุน และไม่ยอมชำระเงินชดใช้ทุน ทำให้ ทพ.เผด็จและผู้ค้ำรวม 4 คนต้องใช้หนี้จากการเซ็นค้ำประกัน 8 ล้านบาท ซึ่งอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ฟ้องล้มละลายไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 และนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 14 มีนาคม ล่าสุด ทาง ทพ.เผด็จ โพสต์เฟซบุ๊กว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งกรรมการสอบสวน ทพญ.ดลฤดี แล้วนั้น

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า เดิม มม.ตั้งใจจะฟ้องคดี ทพญ.ดลฤดี เป็นคดีแพ่ง เนื่องจากไม่ชำระเงินทุนตามสัญญา แต่เมื่อหารือกับฝ่ายกฎหมาย เห็นว่าเป็นคดีทางปกครอง จึงต้องฟ้องศาลปกครองซึ่งผลบังคับคดีเป็นเวลา 10 ปี ระหว่างนั้น มีการสืบทรัพย์ของ ทพญ.ดลฤดี พบว่าไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่แล้ว รวมถึงเจรจากับทั้ง ทพญ.และผู้ค้ำ เพื่อไกล่เกลี่ย ซึ่งผู้ค้ำก็มีการเจรจาไม่ต่ำกว่า 10 รอบ แต่ละรอบใช้เวลาค่อนข้างมาก

นพ.อุดมกล่าวว่า ช่วงแรกผู้ค้ำต่อรองขอชำระ 2 ล้านบาท จากยอดเงินกว่า 30 ล้านบาท เฉลี่ย 4 คน เหลือคนละ 5 แสนบาท ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไม่ยอม ท้ายที่สุดเมื่อมีการเจรจา กรมบัญชีกลางยอมลดให้เหลือ 8 ล้านบาท เฉลี่ยผู้ค้ำชดใช้เงินคนละ 2 ล้านบาท ซึ่งตามหลักแล้วควรดำเนินการฟ้องล้มละลายในปีที่ 9 นับแต่ศาลมีคำสั่งบังคับคดี แต่เนื่องจากการเจรจากับผู้ค้ำมีความล่าช้า จนล่วงเลยมาถึง 9 ปี ทำให้ มม.ต้องเร่งบังคับคดี โดยให้ผู้ค้ำมาชำระหนี้ตามกฎหมายในปีสุดท้าย คือปีที่ 10 ซึ่งคดีจะสิ้นสุดวันที่ 14 กุมภาพันธ์

Advertisement

“ขอยืนยันว่า มม.ทำตามขั้นตอนทางกฎหมายทุกอย่าง เพราะถ้าไม่ทำถือว่าผิดมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้รัฐเสียโอกาส จากนั้นก็ฟ้องล้มละลายต่อตามขั้นตอน เนื่องจากสืบทรัพย์แล้วพบว่า ทพญ.ดลฤดี ไม่มีทรัพย์เหลืออยู่ในประเทศไทย และมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน” นพ.อุดมกล่าว และว่า ทั้งสองคดี มีมูลเหตุที่เกี่ยวเนื่องกัน มม.และ สกอ.ไปตรวจสอบทรัพย์สิน ทั้งบัญชีธนาคาร และที่ดิน พบว่าเขาโอนชื่อออกหมด เป็นมูลเหตุว่า ทพญ.ดลฤดีไม่มีทรัพย์สินมาใช้แน่ จึงนำมาสู่การฟ้องล้มละลาย เพื่อให้มีผลทางกฎหมายต่อเนื่อง และถ้าคดีมีผลบังคับ จะส่งผลให้ ทพญ.ดลฤดีไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ในประเทศไทยได้อีก หาก ทพญ.ดลฤดีเดินทางเข้ามาประเทศไทย จะถูกจับกุมทันที

นพ.อุดมกล่าวถึงกรณีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสั่งสอบ ทพญ.ดลฤดี ว่า ทราบตามข่าว หากทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประสานขอข้อมูล หรือให้ทาง มม.ไปให้ข้อมูลด้วยตัวเองที่สหรัฐอเมริกา ตนก็ยินดี เพราะตอนนี้คิดว่าเงิน 30 ล้านบาท ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มีผลทางพฤติกรรม ที่คนเป็นครูอาจารย์ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมและมีความซื่อสัตย์ ที่มีมาตรฐานขั้นสูงกว่าคนปกติทั่วไป การหนีหนี้ไม่รับผิดชอบ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม มม.กัดไม่ปล่อยแน่นอน ต้องดำเนินการจนถึงที่สุด

ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ ให้สัมภาาษณ์กรณีที่โพสต์เฟซบุ๊กว่า “งานเข้าเธอแล้วครับ แหล่งข่าวจากสหรัฐอเมริกาแจ้งว่าตอนนี้มีผลกระทบต่อหน่วยงานที่เธอทำงานอยู่ในฮาร์วาร์ดแล้ว คงอาจจะถูกลบชื่อออกจากการเป็น leadership จาก Harvard Medical School (HSDM) บอกได้เลยครับว่าเธอถูกขอสอบสวนจากออมบูดซ์ (Ombuds) ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของ Harvard Medical School ครับ” ว่า ที่โพสต์ข้อความดังกล่าว เพราะได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวในสหรัฐที่เชื่อถือแจ้งมาว่าทางออมบูดซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของคณะทันตแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อเรียก ทพญ.ดลฤดี ไปสอบสวนแล้ว ที่ถามว่าได้เรียกไปสอบสวนแล้วหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้า

Advertisement

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ มม.ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและได้รับคำชี้แจงว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลให้ติดต่อกันเอง ทพ.เผด็จกล่าวว่า ทางแหล่งข่าวตนชี้แจงว่าคาดว่าน่าจะเกิดจากการทำหนังสือไปผิดที่ เพราะทางผู้บริหารคณะไม่รับรู้จริงๆ จะต้องแจ้งเรื่่องไปยังออมบูดซ์ ถึงจะถูกต้อง ดังนั้น ขอเชิญชวนให้คนไทยไปโพสต์แจ้งข้อมูลที่เว็บไซต์ของ ombuds office ของคณะทันตแพทย์ฮาร์วาร์ด ซึ่งออมบูดซ์จะปกปิดชื่อของคนร้องเรียน

“จะมีคณะทำงานเท่าที่ทราบมี 2 คน ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจากใบปลิวที่ติดที่บอร์ดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวมถึงเฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยทำการแปลและรวบรวมเสนอคณะกรรมการสอบสวนต่อไป คิดว่าผลจากการติดใบปลิวที่บอร์ดมหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ด ตลอดจนคะแนนการกดไลค์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งขณะนี้การกดไลค์ลดลงเหลือแค่ 3.9 ดาว จาก 5 ดาว ประกอบกับมีคอมเมนต์มากมายที่เฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำให้มหาวิทยาลัยต้องลงมาดูแลเรื่องนี้” ทพ.เผด็จกล่าว และว่า ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของสหรัฐ เมื่อคะแนนกดไลค์เหลือแค่ 3.9 ดาว คุณคิดว่าฮาร์วาร์ดจะไม่ทำอะไรเลยหรือ? อยากให้คนไทยเข้าไปแสดงความเห็นกันเยอะๆ ทั้งที่ออมบูดซ์และที่เฟซบุ๊กฮาร์วาร์ด เพราะทางนั้นจะได้เชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นที่เกิดขึ้นที่สหรัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นปัญหาอย่างมากในไทย เพื่อฝ่ายนั้นจะได้รวบรวมนำเสนอคณะกรรมการต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับจาก ทพ.เผด็จโพตส์เชิญชวนให้คนไทยเข้าไปแสดงความคิดเห็นที่ออมบูดซ์และเฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ คะแนนกดไลค์ที่เฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจากเดิมคะแนนนิยมอยู่ที่ 3.9 ดาว ลดลงเหลือแค่ 3.7 ดาว มีคนไทยเข้าไปกดให้ 1 ดาวจำนวนมาก พร้อมโพสต์เล่าเรื่องราวความเป็นมาของกรณีนี้ รวมถึงแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นคุณธรรมจริยธรรมกับการที่ ทพญ.ดลฤดี ไม่ชดใช้เงินทุนจนทำให้ผู้ค้ำฯ เดือดร้อนและเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้ามาจัดการกับ ทพญ.ดลฤดี จนส่งผลให้คะแนนความนิยมลดลงเหลือ 3.7 ดาว

จากนั้น ทพ.เผด็จได้โพสต์ข้อความว่า “เพื่อเป็นการยืนยันเจตนาของผมนะครับ ในกรณีที่การฟ้องร้องชนะ ผมขอรับแต่เฉพาะเงินต้นที่จ่ายไปเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยและค่าเสียหายต่างๆ ที่ผมอาจจะได้รับในอนาคตขอบริจาคให้องค์กรการกุศลทั้งหมด ขอแค่เงินต้นไปใช้คืนธนาคารที่ผมกู้มาพอครับ (ในส่วนของดอกเบี้ยธนาคารที่ผมกู้มา จะรับผิดชอบเองครับ) เพราะจริงๆ ก็ทำใจว่าสูญตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าได้คืนแค่เงินต้นก็ดีใจน้ำตาไหลแล้วครับ ขอบคุณทุกท่านที่เป็นกำลังใจให้นะครับ”

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จะทบทวนเงื่อนไขและความเหมาะสมของการให้ทุนด้านต่างๆ ว่าทันสมัยกับยุคปัจจุบันที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ได้ขอให้ สกอ.ส่งข้อมูลระเบียบการรับทุนพัฒนาอาจารย์มาให้ตนพิจารณา ซึ่งพบว่ามีหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งระบุว่าการรับทุนและการชดใช้ทุนต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง กำหนด เพราะฉะนั้นจะต้องไปหารือรายละเอียดต่างๆ ร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนคุณสมบัติของผู้ค้ำประกันนั้นก็ได้ปรับแก้ให้พ่อแม่เป็นผู้ค้ำประกันได้แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องดังกล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวถึงการให้ชำระเงินทุนคืนเป็นจำนวนมากว่า รัฐไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการบุคลากรที่จะกลับมาพัฒนาประเทศ หากผู้รับทุนไม่กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ตามเงื่อนไข จะเป็นการเสียโอกาส ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นกรณีศึกษา ต่อไปอาจจะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้รับทุนให้มากขึ้น รวมถึงดูวัตถุประสงค์และเงื่อนไขการให้ทุนในภาพรวมทั้งหมด เมื่อมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว คงปล่อยให้เป็นไปเหมือนเดิมไม่ได้ ยังเชื่อว่าคนที่หนีและไม่ยอมชำระเงินทุนคืน ไม่น่าจะมีแค่รายนี้เพียงรายเดียว

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้งกรรมการสอบสวน ทพญ.ดลฤดี ว่า ไม่สามารถตอบอะไรได้ แต่เชื่อว่า มม.คงจะดำเนินการตามขั้นตอน เพราะ ศธ.ได้กระจายอำนาจให้มหาวิทยาลัยไปหมดแล้ว คาดว่ามหาวิทยาลัยจะสามารถกำกับดูแลเรื่องต่างๆ ได้เองเป็นอย่างดี

นางอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะสอบสวน ทพญ.ดลฤดี ว่าทาง สกอ. คงเข้าไปดำเนินการอะไรไม่ได้ ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะดำเนินการ ส่วนทาง สกอ.ต้องดำเนินการตามกฎหมายไทย ซึ่งยื่นฟ้องล้มละลายไปแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ส่วนกรณีที่ สกอ.มอบหมายให้อัยการฟ้องศาลล้มละลายโดยอัยการได้ฟ้องไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 นั้น มม.โดย อธิการบดี มม. เป็นโจทก์ที่ 1 และ สกอ. โดย น.ส.อาภรณ์ เลขาธิการ กกอ. เป็นโจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้อง ทพญ.ดลฤดี ให้ชำระหนี้รวมกว่า 48 ล้านบาท คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 แยกเป็นชำระหนี้ให้ มม. 4.58 ล้านบาท และให้ชำระหนี้แก่ สกอ. 43.27 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 14 มีนาคม

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ หรือเทียบเท่า ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาการใช้ทุนการศึกษาของแพทย์ ภายหลังจากมีกระแสข่าวออกมา ซึ่งนายกฯระบุว่าจะต้องมีการกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน ว่าจะให้กลับมาใช้ทุนในพื้นที่ใด เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน และป้องกันนักศึกษาออกจากระบบ เพราะแม้ว่าจะกำหนดระยะเวลาในการทำงานใช้ทุน หรือให้ชดใช้เป็นจำนวนเงิน ถือว่าไม่คุ้มค่าเพราะไม่สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ทัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image