เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม, สอช. แถลงการณ์ค้านรื้อ ‘ป้อมมหากาฬ’ ห่วงเผชิญหน้ารุนแรง แนะใช้ปัญญา-กรุณา

เมื่อวันที่ 7 กันยายน เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม (JuSNet) ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร โดยระบุว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าอาจนำไปสู่ความรุนแรง อีกทั้งเสียโอกาสที่สังคมไทยจะร่วมกันใช้สติปัญญาหาแนวทางแก้ปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นธรรม โดยไม่กีดกันผู้อื่นออกไปจากเมือง จึงขอให้ กทม.ทบทวนข้อเสนอจากชุมชนซึ่งขออยู่ร่วมกับโบราณสถานภายใต้กติกาการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ และขอให้ใช้ปัญญา-กรุณา มากกว่าการขับไล่คน

เนื้อหามีดังนี้

แถลงการณ์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม (JuSNet) เรื่อง ไม่เห็นด้วยต่อการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ และข้อเสนอว่าด้วยเมืองที่ไม่กีดกันใครออกไป สืบเนื่องจากยังมีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬภายหลังการเจรจาร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนป้อมมหากาฬในวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 ทางเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรมมีความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งเผชิญหน้าที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง และเสียดายโอกาสที่สังคมไทยจะร่วมกันใช้สติปัญญาหาแนวทางแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองอารยะที่จะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive city)
กรุงเทพมหานครได้ชี้แจงว่า การไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬเป็นการปฏิบัติตามแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เพื่อสร้างสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานอันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรมเห็นว่า การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้นไม่จำเป็นต้องไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ทั้งยังตั้งอยู่บนหลักของนิติธรรมและความเป็นธรรม และสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของโลก โดยมีข้อเสนอว่าด้วยเมืองที่ไม่กีดกันใครออกไป ดังนี้
1.ขอให้กรุงเทพมหานครรับฟังและทบทวนข้อเสนอจากชุมชนป้อมมหากาฬ ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนพร้อมกับกติกาในการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์และบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานวิชาการและกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน
2.ขอให้สังคมไทยร่วมกันขบคิดและถกเถียงโจทย์ว่าด้วยการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬอย่างกว้างขวาง เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันคิดออกแบบเมืองหลวงที่คนทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งต้องการปัญญาและกรุณามากกว่าปฏิบัติการขับไล่คนยากไร้หรือใครออกไปจากเมือง เครือข่ายฯ มุ่งหวังว่า ข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันและเป็นประโยชน์ในการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้

ป้อมมหากาฬ

Advertisement

ด้าน สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ก็ได้ออกแถลงการณ์ขอให้หยุดการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ โดยระบุว่า ที่ผ่านมา กทม.ล้มเหลวในการพัฒนาสวนสาธารณะ ทั้งยังละเมิดข้อตกลงในการเจรจาเมื่อวันที่ 3 ก.ย. จึงขอเสนอให้ยุติการไล่รื้อ หยุดการข่มขู่ คุกคาม โดยให้รัฐบาลเข้าจัดการปัญหาดังกล่าว เนื่องจาก กทม.ขาดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา และขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพหุภาคีโดยเร็ว

เนื้อหามีดังนี้

แถลงการณ์ สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เรื่อง หยุดการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนประวัติศาสตร์
6 กันยายน 2559 สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เป็นองค์กรชาวบ้านที่มาจากผู้ที่ไม่มีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะอยู่อย่างบุกรุกหรือเช่าที่ดินของรัฐหรือเอกชน เป็นชุมชนแออัดและมีปัญหามากมาย เช่น ถูกไฟไหม้ โดนไล่รื้อ จึงทำให้ผู้ที่เดือดร้อนจากเรื่องดังกล่าวลุกขึ้นมารวมกันเพื่อที่จะช่วยกันแก้ปัญหาของตนเองโดยมีการรวมตัวกันเป็นเขต / เมือง / จังหวัด และรวมกันเป็นภาค ตามที่กรุงเทพมหานครดำเนินการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินเวนคืน พ.ศ.2535 เพื่อจัดทำสวนสาธารณะ และโบราณสถาน
สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เห็นว่า การดำเนินการของกรุงเทพมหานครเป็นการดำเนินการอย่างโดยไม่ส่วนร่วม ไม่มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ล้มเหลวในพัฒนาสวนสาธารณะที่ได้เวนคืนในพื้นที่ด้านหน้า การดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน และสิทธิชุมชนอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังทำการรื้อทำลายบ้านเรือนในชุมชนนอกเนื่องจากข้อตกลงจากการเจรจา ในวันที่ 3 กันยายน 2559 สหพันธ์พัฒนาพัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ซึ่งเป็นเครือข่ายคนจนเมืองทั่วประเทศไทย ข้อเสนอ ดังนี้
1.กรุงเทพมหานครต้องยุติการดำเนินการเข้ารื้อถอน ทำลาย บ้านเรือนในชุมชนป้อมมหากาฬ
2.กรุงเทพมหานครต้องยุติการขมขู่ และคุกคามทุกกรณี
3.ให้รัฐบาลเข้ามาจัดการปัญหาของชุมชนป้อมหากาฬ เนื่องจากหากปล่อยให้จัดการโดย กรุงเทพหานคร จะขยายความขัดแย้งในสังคม กรุงเทพหานครขาดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหานี้
4.ควรแต่งตั้งคณะกรรการพหุภาคีโดยเร็ว ทั้งนี้หากกรุงเทพมหานครยังไม่ยุติการดำเนินการ และยุติการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ยืนยันที่จะสนับสนุนให้ “คน” อยู่กับเมือง ชุมชนป้อมมหากาฬต้องอยู่ต่อ และเกิดความร่วมมือเพื่อหาแนวทางพัฒนาในการรักษาวิถีวัฒนธรรม ประเพณี และโบราณสถาน อยู่ร่วมกัน

Advertisement

14269842_10154589322349363_124169815_n

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image