ศาลแจงคดี’สนธิ’ใช้เวลาพิจารณา7ปี โต้สื่อเสนอข่าวยืดเยื้อ19ปี ชี้ยื่นฟ้องหลังเกิดเหตุเกือบ13ปี

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม

เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงว่า ตามที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เสนอข่าวทำนองว่า คดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล “…ใช้เวลาไต่สวนถึง 19 ปี ที่สุดศาลฎีกาตัดสินจำคุกนายสนธิ ข้อหาทำรายงานประชุมเท็จ “เอ็มกรุ๊ป” เพื่อกู้เงินธนาคารกรุงไทย 20 ปีไม่รอการลงอาญา…” นั้น เกี่ยวกับคดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ กับพวกรวม 4 คนเป็นจำเลย ฐานความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่า แม้คดีนี้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2539 และกระทำความผิดครั้งสุดท้ายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการนำคดีมาฟ้องต่อศาลอาญาในวันที่ 27 มีนาคม 2552 หลังจากศาลมีคำสั่งประทับฟ้องแล้วมีการนัดสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ครั้งแรกในวันที่ 22 เมษายน 2552 แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 (นายสนธิ) ต้องรักษาตัวจากการถูกคนร้ายลอบยิง ไม่สามารถมาศาลได้ จึงต้องเลื่อนคดี 2 ครั้ง และสามารถสอบคำให้การและนัดตรวจพยานหลักฐานได้ในวันที่ 12 ตุลาคม 2552 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ โจทก์ขอสืบพยานจำนวน 16 ปาก 5 นัด จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 (น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทแมเนเจอร์ฯ) และจำเลยที่ 4 (น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการบริษัทแมเนเจอร์ฯ) ขอสืบพยานรวม 9 ปาก 6 นัด ส่วนจำเลยที่ 2 (นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)) ขอสืบพยาน 6 ปาก 4 นัด ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 29-30 กรกฎาคม 2553, วันที่ 8 และ 15 ตุลาคม 2553, วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 นัดสืบพยานจำเลยวันที่ 18-21 มกราคม, วันที่ 8-11, 15 และ 16 มีนาคม 2554 ต่อมามีการสืบพยานโจทก์ตามที่กำหนด จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2554

นายสืบพงษ์กล่าวต่อว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตัดพยานโจทก์ปากที่ไม่สามารถนำตัวมาเบิกความที่ศาลได้ และให้สืบพยานจำเลยทั้งสี่ แต่โจทก์แถลงขอสืบพยานเพิ่มเติมในนัดต่อมา และหลังจากนั้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 จำเลยทั้งสี่แถลงขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และขอสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ศาลอาญาจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 ต่อมาเนื่องจากในวันดังกล่าวมีการประกาศเป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ จึงเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 มกราคม 2555 เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษา ศาลออกหมายจับจำเลยที่ 1 และอ่านคำพิพากษาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 และขอถอนอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ส่วนจำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 หลังจากที่พ้นระยะเวลาโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ วันที่ 10 กันยายน 2555 ศาลอาญาส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

นายสืบพงษ์กล่าวอีกว่า ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาคดีนี้เสร็จในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 7 สิงหาคม 2557 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 ยื่นฎีกา และร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หลังจากผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วมีการรับฎีกาและคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยที่ 1, ที่ 3 และที่ 4 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 และวันที่ 5 กันยายน 2557 ตามลำดับ ต่อมาศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 และ
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2559 จากระยะเวลาที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะเห็นว่ามีการฟ้องคดีหลังเกิดเหตุแล้วเกือบ 13 ปี มิใช่ศาลชั้นต้นใช้เวลาไต่สวนถึง 19 ปี ดังที่ปรากฏในคอลัมน์ข่าว

“ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มีเหตุจำเป็นอันต่างๆ ที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต้องเลื่อนออกไป ไม่ว่าจะเป็นการรักษาตัวของจำเลยที่ 1 ที่ถูกลอบยิง หรือภัยธรรมชาติ นับเป็นเหตุจำเป็นในการเลื่อนคดีตามที่กฎหมายบัญญัติทั้งสิ้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ในปัจจุบันศาลยุติธรรมมีการพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างรวดเร็ว ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักในการบริหารจัดการคดีเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง เท่าเทียมกัน และเสียค่าใช้จ่ายน้อย ตามนโยบาย “อำนวยความยุติธรรมโดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม” ของนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image