นพ.โอภาส ตอบปมสั่งซิโนแวค 28 ล้านโดส ยันมีมาตรฐาน ต้องฟังหลายด้าน ชี้จัดหาหลายยี่ห้อ

อธิบดีกรมควบคุมโรคยันหาวัคซีนโควิดหลากยี่ห้อ ปชช.ได้ฉีดแน่ ส่วนเข็ม 3 หรือไม่ ขอฟังข้อมูลวิชาการ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แผนการนำเข้าวัคซีนโควิด 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 ที่จะมีการสั่งซิโนแวคเพิ่มเข้ามาอีก 28 ล้านโดส เนื่องจากมีข้อกังวลประสิทธิภาพซิโนแวค ว่า ความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ซึ่งซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีมาตรฐาน ทั้งองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการรับรอง เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ และประสิทธิภาพ ทั้งการป้องกันเชื้อ ป้องกันอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้มีการฟังข้อมูลหลายๆ ด้านประกอบกัน และจะนำเข้าสู่คณะกรรมการวิชาการพิจารณา แต่จะไม่มีการปรับรายวัน ซึ่งเรามีการฟังข้อมูลรอบด้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายคนกังวลเรื่องประสิทธิภาพของซิโนแวค จึงทำให้มีการเสนอว่าไม่ควรนำเข้ามาเพิ่มอีก นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเด็นการตอบสนองต่อวัคซีนยังคงติดตามข้อมูลอีกสักระยะหนึ่ง และค่อยประเมิน ตอนนี้คือต้องฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ส่วนจะมีเหตุการณ์ต้องปรับเปลี่ยนก็จะปรับตามสถานการณ์ แต่ขณะนี้ สธ. ให้พยายามจัดหาวัคซีนให้มากขึ้น ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และเรากำลังเจรจากับไฟเซอร์ อีกทั้ง ยังมีของซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดำเนินการด้วย

“ขอย้ำว่า เรามีการหาวัคซีนทุกยี่ห้อ และมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เพราะบางบริษัทก็ไม่ได้อยากให้เราเปิดเผยมากนัก แต่อย่างไรเสีย ประชาชนจะได้รับวัคซีนแน่นอน” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ส่วนกรณีญี่ปุ่นจะบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้นั้น ขอย้ำว่า เป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน

เมื่อถามย้ำว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หากไม่ใช่ยี่ห้อเดิม โดยเฉพาะซิโนแวคที่มีความกังวลกันมาก นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอให้รอข้อมูลวิชาการก่อน เพราะตอนนี้ยังเร็วไปที่จะพูด อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ฟังความเห็นของคนใดคนหนึ่ง เรามีคณะกรรมการวิชาการพิจารณา ซึ่งมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement

“ขณะนี้เราก็มีการมองวัคซีนทางเลือก กรณีฉีดข้ามยี่ห้อ ซึ่งก็คล้ายกับที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาอยู่ ถึงบอกว่าความรู้เปลี่ยนรายวัน จึงขอให้รอข้อมูลรอบด้าน เพราะอย่างไรเสียเรามีทีมในการติดตาม ประเมินสถานการณ์ที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุด” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เมื่อถามว่าการควบคุมโรคทางภาคใต้จะดำเนินการอย่างไร ยิ่งมีสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) นพ.โอภาส กล่าวว่า มีการเข้มมาตรการป้องกันตามนโยบายท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดรับทราบนโยบายนี้และกำชับทางกระทรวงมหาดไทย และมีการติดต่อทางส่วนกลางอย่างเข้มงวด

เมื่อถามต่อว่ากรณีทางภาคใต้ที่เจอที่โรงเรียน แต่ไม่มีการสกัด จนนำเชื้อไปแพร่ต่อนั้น นพ.โอกาส กล่าวว่า รายละเอียดขอให้ทางจังหวัดเป็นผู้รายงาน ซี่งก็รายงานมาส่วนกลาง แต่เราก็ได้กำชับ เพราะประชาชนอาจเข้าใจผิดว่า เจอเคสแล้วให้ปิด ซึ่งเราบอกตลอดว่า การปิดไม่ใช่แก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาคือ อย่าให้เดินทางออกมา ซึ่งจะตรงกับมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซิล ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็มีการกักตัวอย่างน้อย 21 วัน ส่วนจะ 1 เดือนหรือไม่ต้องให้คณะกรรมการวิชาการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ต่อเนื่อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image