ม็อบงานเข้า! ทีมสอบสวน บช.น. รวบรวมพยานหลักฐานเอาผิด 5 ข้อหาหลัก (มีคลิป)

ม็อบงานเข้า! ทีมสอบสวน บช.น. รวบรวมพยานหลักฐานเอาผิด 5 ข้อหาหลัก ส่วนผู้ชุมนุมที่มีชนักติดหลังหากผิดเงื่อนไขเตรียมเสนอศาลเอาผิดเพิ่ม

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการปฏิบัติหลังจากการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ทาง บช.น.ขอชี้แจงที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมกันในหลายพื้นที่กรุงเทพมหานคร กลุ่มแรก กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยมีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กลุ่มราษฎร โดยนายอานนท์ นำภา และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นัดหมายทำกิจกรรมจุดเทียนเริ่มเวลา 05.30 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 จากนั้นเคลื่อนขบวนไปรัฐสภาบริเวณแยกเกียกกายทำกิจกรรมปราศรัย เวลา 12.40-16.00 น. และประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นให้ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน ตั้งแต่เวลา 17.00-20.30 น. จึงประกาศยุติการชุมนุม

Advertisement

กลุ่มไทยไม่ทนหรือสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ นัดรวมพลที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าและทำกิจกรรมปราศรัยเวลา 16.00 น. จากนั้นเคลื่อนขบวนมาบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต ถ.พิษณุโลก และทำการปราศรัยจนถึงเวลา 19.45 น. จึงประกาศยุติการชุมนุม

กลุ่มประชาชนคนไทยโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา นัดรวมพลที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ เวลา 14.00 น. และเคลื่อนขบวนมาทำการปราศรัยอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจนถึงเวลาประมาณ 20.30 น. ประกาศยุติการชุมนุม

โดยทางคณะพนักงานสอบสวน บช.น.โดย พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น.จะประชุมและสรุปผลการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม จากเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดต่อกฎหมายดังนี้ จัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ, การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท, ตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ บนพื้นถนนเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท, กีดขวางการจราจรตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

Advertisement

โดยสถานีตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว ได้แก่ สน.ชนะสงคราม, สน.นางเลิ้ง, สน.พญาไท, สน.สามเสน, สน.บางซื่อ, สน.สำราญราษฎร์, สน.เตาปูน, สน.บางโพ และ สน.ปทุมวัน ซึ่งทาง บช.น.สั่งการให้ทำการพิสูจน์ทราบบุคคลว่าเป็นผู้ใดบ้าง และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเนื้อหาการปราศรัยต่างๆ พนักงานสอบสวนจะแบ่งงานตรวจสอบและถอดเทป ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ ส่วนผู้ชุมนุมที่ทำผิดคดีอาญามาก่อนหน้านี้ ต้องตรวจสอบด้วยว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดจะรวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลต่อไป

กรณีวันที่ 26 มิ.ย. ที่กลุ่มไทยไม่ทน และกลุ่มประชาชนคนไทย ประกาศชุมนุมอีกครั้ง ทาง บช.น.แจ้งเตือนว่าผู้ที่ชักชวนไม่ว่าด้วยวิธีการใด หรือผู้สนับสนุน ล้วนมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความสะอาด พ.ร.บ.ควบคุมโรค และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนจะมีการตั้งสิ่งกีดขวางหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า จะทำเท่าที่จำเป็นตามพฤติกรรมและการข่าวเพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด หากมีความเสี่ยงต่อการรักษาความสงบ ก็มีความจำเป็นต้องตั้งสิ่งกีดขวาง ตามการข่าวและพฤติกรรมของผู้ชุมนุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image