‘ยศพล’ค้านแรงทางเลียบ อ้างต่างชาติชี้ ทำ‘เจ้าพระยา’เหมือน ‘ดิสนีย์แลนด์’ ‘อันธิกา’โต้ มี12แผนรวมพัฒนาชุมชน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ มีการจัดการประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) 57 กม. ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกทม.มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)เป็นที่ปรึกษาการสำรวจออกแบบแผนแม่บท โดยในการประชุมครั้งนี้ โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาคส่วนต่างๆเข้าร่วม อาทิ สำนักการโยธา กทม., สจล., มข. รวมถึงชาวบ้านในชุมชนต่างๆบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะมีการส่งมอบงานในวันที่ 26 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่งมีการแสดงความคิดเห็นระหว่าง นาย ยศพล บุญสม จากกลุ่ม FRIENDS FOR RIVER และผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษกโครงการ

นายยศพล กล่าวว่า โครงการนี้ขาดความน่าเชื่อถือในกระบวนการทำงาน การใช้เวลาศึกษาเพียง 5 เดือน ซึ่งความจริงแล้วต้องศึกษาทางเลือกของการพัฒนา และนำมาศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงความคุ้มค่า ไม่ใช่มีธงอยู่แล้ว ส่วนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ได้สนใจกระบวนการศึกษาผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง เป็นเพียงการศึกษาเพื่อสรุปว่าสามารถสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้  ส่วนตัวมองว่าหากภาครัฐรับงานที่ขาดความรอบด้านเช่นนี้ อาจเกิดความแตกแยกตามมา เพราะที่ผ่านมาก็มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า โครงการนี้จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนดิสนีย์แลนด์

“นักท่องเที่ยวต่างชาติ พอเห็นโครงการนี้ เขาบอกว่าเป็นการทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนดิสนีย์แลนด์ เป็นการทำลายรากของเราทั้งหมด จึงไม่สามารถนำไปสู่การกล่าวอ้างว่า รักษามรดกชาติ และมรดกโลกได้เลย ในการศึกษาต้องดูทางเลือกของการพัฒนา ไม่ได้ใช่เรื่องความแคบกว้างของทางเดิน ต้องเอาทางเลือกมาศึกษาความเป็นไปได้ กทม.และรัฐบาลไม่ควรรับงานที่ขาดความน่าเชื่อ ไม่รอบด้าน มิฉะนั้นอาจเกิดความแตกแยก” นายยศพลกล่าว

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร. อันธิกา  กล่าวว่า ความจริงแล้วโครงการนี้ มีแผนงานถึง 12 แผน ไม่ใช่แค่ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น การพัฒนาชุมชน แต่ทางเลียบฯ เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด นอกจากนี้ รูปแบบที่นำเสนอก็มีความชัดเจนว่าโครงสร้างทางวิศวกรรม และอื่นๆ ไม่ได้ทำขึ้นสำหรับเป็นถนน แต่สร้างเพื่อให้คนเดินและปั่นจักรยานเท่านั้น พื้นที่เหล่านี้ขาดการเชื่อมต่อมานาน ทางที่ดีที่สุด และประหยัดที่สุด คือเชื่อมต่อด้วยทางเดิน ไม่ควรเข้าถึงได้แค่ทางเรืออย่างเดียว เนื่องจากระบบการขึ้นลงเรือไม่เอื้อต่อคนพิการ นี่คือเงินภาษีของคนทุกคน จึงต้องทำให้คนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม

ผศ.ดร. อันธิกา ยังกล่าวอีกว่า นายยศพลมีบริษัทที่ทำงานในพื้นที่เช่นกัน คงทราบว่ามีผลกระทบใดบ้าง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image