กรมป่าไม้สั่งทีมพยัคฆ์ไพรตรวจสอบไร่ชัยราชพฤกษ์ เพชรบุรี เผยอยู่ในป่าสงวนฯ

กรณีความขัดแย้งระหว่างนายสมัคร ดอนนาปี อดีตผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าทีมพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นายชัยวัฒน์ นำกำลังเข้าตรวจสอบบ้านพักของนายสมัคร ที่ จ.ตาก ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาว่านายสมัครเข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่เพื่อปลูกสร้างบ้านพักซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ขณะที่นายสมัคร เรียกร้องให้มีการตรวจสอบไร่ชัยราชพฤกษ์ของพี่ชายนายชัยวัฒน์ ว่ามีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 9 กันยายน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า เรื่องของนายชัยวัฒน์กับนายสมัคร ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย เหมือนการตรวจสอบบุคคลอื่นๆ ที่บุกรุกป่าก็ให้ว่าไปตามกฎหมาย ผิดก็ว่าไปตามผิด ส่วนข่าวที่ออกมาว่าเป็นความขัดแย้งของรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบัน ตนไม่ทราบ และจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะเป็นงานที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ต้องดูแล

ด้านนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้นายชีวภาพ ชีวธรรม หัวหน้าทีมพยัคฆ์ไพร เข้าไปตรวจสอบไร่ชัยราชพฤกษ์ ที่มีการร้องเรียนว่ามีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พื้นที่ประมาณ 100 ไร่อยู่ในพื้นที่ทำการสำรวจการถือครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 เบื้องต้นพบว่ามีนายไพโรจน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นผู้ครอบครอง เนื้อที่ประมาณ 73 ไร่ มีรีสอร์ทตั้งอยู่โดยกรมป่าไม้ ได้แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงบางส่วนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.)และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)แล้ว ขณะที่กรมป่าไม้ กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง โดยประสานงานร่วมกับฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ จริงหรือไม่ บุกรุกพื้นที่ป่ากี่ไร่ ซึ่งขณะนี้รอรายงานจากทีมพยัคฆ์ไพร ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกอย่างจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะไม่มีการยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ผิดก็ว่าไปตามผิด

เมื่อถามว่านายชัยวัฒน์ อ้างว่ากรมป่าไม้ออกหนังสือรับรองสิทธิในพื้นที่ให้เมื่อปี 2545 จริงหรือไม่ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ แต่น่าจะเป็นใบสำรวจถือครองซึ่งเป็นหลักฐานว่าทำกินได้จนกว่าการพิสูจน์จะแล้วเสร็จมากกว่า ต้องเอาใบอนุญาติมาดูและต้องดูการแปรภาพถ่าย เมื่อถามอีกว่า ที่ดินตามมติ 30 มิถุนายน 2541 สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นรีสอร์ทได้หรือไม่ นายชลธิศ กล่าวว่า ไม่สามารถเปลี่ยนสภาพได้ เพราะป่าสงวนฯ ต้องสงวนไว้ตามวัตถุประสงค์ แต่อย่างไรก็ตามต้องดูวัตถุประสงค์ตอนแจ้งถือครอง และจะต้องไปพิสูจน์สิทธิว่าเริ่มทำประโยชน์เมื่อไหร่

Advertisement

ด้านนายสมัคร ดอนนาปี อดีต ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวถึงการถูกตรวจสอบบ้านพักที่ จ.ตาก ว่า พื้นที่ตาม นส. 2 นั้น เนื้อที่ 12 ไร่ แต่เนื่องจากที่ดินเป็นเนินเขา ทำให้เนื้อมี่ดินจริงมากกว่า 12 ไร่ กรณีพื้นที่จริงแบ่งเป็น 3 แปลง ตามแนวเขตที่ดินที่นายหมง วัฒน์ศรี ชี้แนวไว้ ส่วนเนื้อที่ 12,8 และ 12 ไร่นั้น เป็นการคาดคะเนของลูกน้องเก่าเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ดังนั้น หากจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็ควรมีการรังวัดโดยใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง โดยให้นายหมง และลูกชายเป็นคนระวังชี้แนวเขต แต่ขอยืนยันว่า บ้านและสิ่งก่อสร้างในส่วนของตน สร้างอยู่บนพื้นที่ส่วนที่นายหมง มอบให้ด้วยความเมตตา เพราะเห็นว่า ตนอยู่ปฏิบัติหน้าที่ประจำหน่วยงานตลอดเวลา รวมทั้งภรรยาและบุตรของนายหมง ก็สนิทชิดเชื้อกันเป็นอย่างดี แต่เหตุที่สื่อออกไปผิดจากข้อเท็จจริง เข้าใจว่า นายหมง ถูกกดดันจากนายชัยวํฒน์ ซึ่งโกรธแค้นตนเป็นการส่วนตัว ที่ตนโพสต์เฟสบุ๊คพาดพิงในหลายกรณี เช่น เรื่องไร่ชัยราชพฤกษ์ เรื่องการก่อสร้างร้านอาหารที่วนอุทยานโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องการครอบครองอาวุธและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องการใช้งบประมาณปลูกป่าในอุทยานแต่ไม่มีต้นไม้ให้บำรุง ฯลฯ ซึ่งตนเห็นว่า เรื่องราวเงียบหายไปช้านาน แต่ไม่มีความคืบหน้า ทั้ง ๆ ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและ คสช. ทั้งเรื่องทุจริต ที่ดินป่าไม้ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557

ขณะที่นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องของสถาบัน แม้ตนกับนายสมัครจะจบจากสถาบันเดียวกัน ถ้าผิดก็ต้องว่าไปตามผิดถูกก็ว่าไปตามถูกไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอื่น ทำไมไม่คิดว่าแม้จบจากสถาบันเดียวกันตนก็กล้าตรวจสอบ ทั้งนี้หากนายสมัครมีเอกสารหลักฐานมาแสดงก็สามารถทำได้ โดยนายสมัครอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเอกสาร น.ส.2 หรือ ใบจอง ที่จังหวัดหรือกรมที่ดินกันออกไว้ให้ชาวบ้าน ซึ่งก็ต้องตรวจสอบต่อไปว่าเอกสารดังกล่าวตรงตามแปลงที่ตั้งหรือไม่ ซึ่งบริเวณที่เป็นบ้านของนายสมัครนั้นอยู่บนยอดเขา หากไม่ตรงก็จะกลายเป็นพื้นที่ป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 อย่างไรก็ตามสถานีไฟป่าตาก อยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ โดยได้เข้าไปใช้พื้นที่จากนายหมงตั้งแต่ปี 2528 แต่มีการออกใบจองในช่วงประมาณปี 2534-2535 และไม่สามารถซื้อขายได้ ตกทอดสู่ทายาทได้เท่านั้น

“นายสมัครสามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าผิดหรือไม่ผิด ถ้ามีเอกสารหลักฐานก็นำมาแสดง เพราะนายสมัครเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง เป็นบุคคลสาธารณะที่ตรวจสอบคนอื่นๆ อยู่เสมอ นายสมัครจึงต้องทำตัวให้ขาวสะอาดก่อนที่จะไปตรวจสอบคนอื่น ” นายชัยวัฒน์ กล่าว

Advertisement

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนกรณีไร่ชัยราชพฤกษ์นั้นตนก็พร้อมให้มีตรวจสอบเช่นกัน โดยที่ดินดังกล่าวเป็นของพี่ชายตนและภรรยาที่ตกทอดมาจากพ่อตา ทำกินมาตั้งแต่ช่วงปี 2527-2528 มีหนังสือรับรองสิทธิทำกิน (สทก.1ก.) และในช่วงปี 2545 ที่ต้องเปลี่ยนเป็นเอกสาร สทก. 2 ก. นั้นเป็นช่วงที่มีการแยกกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ กระบวนการจึงยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ โดยยุติเรื่องไปแล้วเมื่อปี 2551 แต่ต่อมาเมื่อตนมีกรณีขัดแย้งกับชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่ ก็มีกลุ่มเอ็นจีโอร้องเรียนให้มีการตรวจสอบอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image