กทม.เร่งฉีดวัคซีน ผู้สูงวัย-ป่วยติดเตียง หวังเบรกยอดตายรายวัน ศบค.ขอเวลา 2 เดือนเห็นผล

กทม. เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงวัย ติดบ้าน-ติดเตียง-ผู้ดูแล หวังเบรกยอดตายรายวัน ศบค. ขอเวลา 2 เดือน เห็นผลวัคซีน

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ผู้มีภาวะพึ่งพิงและผู้ดูแลใกล้ชิด(Care giver) ที่ไม่สามารถเดินทางมารับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดฯ ได้ จากการสำรวจ พบ 1.สถานดูแลผู้สูงอายุ 140 แห่ง 4,615 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 2,846 คน และผู้แล 1,769 คน 2.ผู้สูงอายุติดบ้านใน 50 เขตของกทม. มี 1,776 คน เป็นผู้สูงอายุ 1,470 คนและผู้ดูแล 306 คน ซึ่งจะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า หากกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยโรคประจำตัว และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หากได้รับวัคซีนแล้วจะช่วยลดการป่วยหนัก รวมถึงอัตราเสียชีวิต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่เราเริ่มฉีดวัคซีน ต้องรอผลอย่างน้อย 1-2 เดือน จึงจะเห็นว่า หลังฉีดวัคซีนครบ 2 สัปดาห์แล้วจะมีภูมิคุ้มกันเพื่อทำให้ภาพรวมประเทศมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่าอัตราป่วยหลักและเสียชีวิตลดลง อย่างเช่นในหลายๆ ประเทศ

“ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่าเริ่มเห็นสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) เข้ามาระบาดในไทย ซึ่งสายพันธุ์นี้เริ่มระบาดครั้งแรกในอินเดีย โดยหลักการคือ ติดง่าย แพร่ระบาดเร็ว ส่วนความรุนแรงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลัก ดังนั้น เมื่อได้รับวัคซีนมากขึ้น มีการกระจายเพียงพอก็ขอให้เน้นไปในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง หวังว่า เราจะเห็นภาพเหมือนอังกฤษ ที่ฉีดวัคซีน ยังมีรายงานผู้ป่วย แต่อัตราเสียชีวิตลดลงชัดเจน” พญ.อภิสมัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image