ไขข้อข้องใจไวรัส”ซิกา” หญิงตั้งครรภ์ไม่วิตกจนเกินเหตุ

โดย วารุณี สิทธิรังสรรค์
[email protected]

“สําหรับประเทศไทย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease) ยังไม่น่ากลัวเท่าไข้เลือดออก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท…” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ในฐานะที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์

อย่างน้อยก็ชัดเจนว่า โรคซิกาไม่ได้น่ากลัวไปกว่าโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี เพราะไข้ซิกาเมื่อป่วยแล้วจะหายได้เองภายใน 7 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ แต่โดยส่วนใหญ่เมื่อมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้อกระดูก ผื่นขึ้น ตาแดง หากได้รับการรักษาก็จะหายได้เป็นปกติ เว้นเพียงหญิงตั้งครรภ์ เมื่อคลอดลูกแล้ว เด็กทารกอาจมีภาวะศีรษะลีบเล็ก ซึ่งมีรายงานในประเทศบราซิล พบอัตราทารกแรกเกิดมีศีรษะลีบพุ่งสูงกว่า 3,000 คนในช่วงที่เกิดการระบาด จนทางการบราซิลต้องออกประกาศขอให้คู่สามีภรรยาชะลอการมีบุตร ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาออกคำแนะนำหญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด 26 ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน รวมไปถึงองค์การอนามัยโลกยังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ล่าสุดยังมีรายงาน 2 กรณีศึกษาที่พบติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีก

จึงไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่จะกังวล โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 12 สัปดาห์ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ รวมไปถึงกลุ่มอาการเส้นประสาทอักเสบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอาการที่วินิจฉัยยาก และอาจหลงโรคได้

Advertisement

คำถามตามมาคือ จะทำอย่างไร?

แน่นอนว่า กรมควบคุมโรคได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อมาระดมสมองเพื่อหามาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หรือคู่สามีภรรยาที่วางแผนจะมีบุตร แต่เบื้องต้นประชาชนต้องดูแลตัวเอง พยายามไม่ให้ถูกยุงกัด ทั้งทาโลชั่นกันยุง มีมุ้งลวดเหล็กดัดบริเวณบ้าน กำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งจัดการสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

โดยเน้นใช้หลัก 3 เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3.เก็บน้ำปิดให้มิดชิด หรือเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ โดยต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งกรมควบคุมโรคจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รณรงค์เชิญชวนประชาชนทำกิจกรรมในวันที่ 9 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป จนกระทั่งช่วงเดือนเมษายน ซึ่งยังไม่ใช่ช่วงระบาด จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะตัดวงจรยุงลาย แหล่งพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และไข้ซิกา

Advertisement

ส่วนข้อกังวลของหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่แตกต่างจากการตั้งครรภ์ปกติ เพราะต้องดูแลตัวเอง ทั้งการฝากครรภ์ อาหารการกิน และที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ หัดเยอรมัน ซึ่งเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยในมารดาจะไม่มีอันตรายจากหัดเยอรมัน แต่ทารกในครรภ์ที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์อาจจะเกิดความผิดปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เมื่อติดเชื้อ ถ้าอยู่ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ก็อาจพบความพิการทางสมอง เด็กตัวเล็กผิดปกติได้ เรียกได้ว่าไม่แตกต่างจากไข้ซิกามากนัก ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ผู้หญิงที่ไม่เคยเป็นหัดเยอรมัน ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนตั้งครรภ์ และขณะตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรกควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าป่วยหัดเยอรมัน และในกรณีที่ฉีดวัคซีนหัดเยอรมันแล้วก็ควรคุมกำเนิดก่อน 3 เดือน

จะมีหรือไม่มีโรคซิกา หญิงตั้งครรภ์ทุกคนต้องระมัดระวังและดูแลสุขภาพ เพราะยังมีโรคอื่นๆ ที่อาจรุมเร้าเข้ามาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ได้ ข้อกังวลตามมาคือ สำหรับคู่สามีภรรยาที่กำลังเตรียมพร้อมมีบุตรจะป้องกันตัวเองอย่างไร

เรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่าไม่ต้องกังวลมาก เพราะการติดเชื้อซิกาผ่านการมีเพศสัมพันธ์นั้นน้อยมาก แต่เพื่อความสบายใจก็สามารถสังเกตอาการตามข้อบ่งชี้ คือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย หากมีอาการดังกล่าวให้ไปพบแพทย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจ ยกเว้นเพียงกลุ่มเสี่ยง คือ หญิงตั้งครรภ์ที่อาจมีผลต่อทารกแรกเกิด และกลุ่มที่มีอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย ซึ่งต้องเจาะเลือดเพื่อยืนยันผล และเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อทราบอุบัติการณ์การเกิดโรคที่มีผลต่อสุขภาพใน 2 กลุ่มดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ในเด็กที่คลอดออกมามีศีรษะเล็กอาจต้องมีการตรวจภูมิคุ้มกันในน้ำเหลืองของเด็ก เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในกลุ่มผู้ป่วยปกติที่มีอาการบ่งชี้ไม่จำเป็นต้องตรวจ เนื่องจากโรคนี้ไม่รุนแรงและจะหายได้เอง

“หญิงท้องทุกคนก็ไม่ใช่ว่าจะต้องกลัวไปหมด เพราะหากในช่วง 3 เดือนแรกดูแลสุขภาพตัวเองดีอย่างรอบด้านก็ไม่ต้องกังวล อย่างบางคนกังวลมาก พอมีอาการไข้ก็อยากไปตรวจเลือด ซึ่งไม่จำเป็นและเสียเงินโดยใช่เหตุ เพราะการตรวจแต่ละครั้งเสียเงินกว่า 1,000 บาท ขณะที่คู่สามีภรรยาอาจกังวลว่า หากสามีมีอาการไข้จะมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ก็มีได้ แต่หากกังวลมาก แค่สวมถุงยางอนามัยก็ป้องกันได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว และว่า ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีอาการเข้าข่ายซิกา และต้องตรวจเลือดก็จะมีวิธีการตรวจที่เรียกว่า พีซีอาร์ ซึ่งปัจจุบันจุฬาฯสามารถตรวจได้ครอบคลุมเชื้อ 30 ชนิดในครั้งเดียว

แต่ที่น่าชื่นชมคือ งานนี้กรมอนามัยออกตัวอย่างเร่งด่วน ให้นักวิชาการอนามัยแม่และเด็กไปรวบรวมข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับทารกแรกเกิดว่ามีมากน้อยแค่ไหน และจัดทำคำแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า

ที่มา มติชน รายวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image