กทม.รอผลตรวจอีก 36 ราย ‘สาทร’ คุมเข้ม’ซิกา’ ค้นผู้ติดเชื้อรัศมี 100 ม.บ้านหญิงท้อง

เมื่อวันที่ 11 กันยายน พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ของโรคไวรัสซิกาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคดังกล่าว พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อชุดแรก 7 ราย ในจำนวนนี้รักษาหายและสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ต่อมาชุดที่ 2 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เขตสาทรติดเชื้อจากสามีชาวต่างชาติ 1 ราย แม้ขณะนี้คลอดลูกแล้วและทั้ง 2 คน สุขภาพแข็งแรงดี แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของ กทม.ยังต้องลงพื้นที่สอบสวนโรค โดยค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะรัศมี 100 เมตร จากที่พักอาศัยของผู้ป่วยรายดังกล่าว โดยผลการตรวจเลือดจากห้องปฎิบัติการพบว่ามีผู้ติดเชื้ออีก 21 คน ในจำนวนนี้ได้รับรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 3 ราย อยู่ที่ต่างจังหวัด จึงได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้เฝ้าระวังโรคแล้ว ส่วนอีก 4 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่เขตอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ได้สั่งการให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัด กทม.เฝ้าติดตามอาการและควบคุมโรคเช่นกัน โดยทั้งหมดยังต้องเฝ้าระวังอาการต่อไปจนครบ 30 วัน หรือจนถึงปลายเดือนกันยายนนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย ที่มีอายุครรภ์ 6-7 เดือน ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดจนกว่าจะคลอด หากในระยะเวลา 1 เดือน ในพื้นที่เขตสาทรและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาเพิ่มเติมอีก จะถือเป็นพื้นที่ปลอดภัย

พญ.วันทนีย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการสอบสวนโรคในพื้นที่เขตสาทร กทม.ยังอยู่ระหว่างรอผลการตรวจเลือดจากห้องปฎิบัติการในผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีก 36 ราย ทั้งนี้ กทม.ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่กำจัดลูกน้ำยุงลายทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในจุดที่พบผู้ป่วยแล้วได้สั่งการให้ดำเนินการรณรงค์เป็นพิเศษเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันป้องกัน อีกทั้งสั่งให้เจ้าหน้าที่จับตาเป็นพิเศษในกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ที่ไปฝากท้องในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตกรุงเทพฯ 2.เด็กที่เพิ่งคลอดและสังเกตเห็นว่ามีศีรษะเล็กผิดปกติ 2.กลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการปลายประสาทอักเสบ หรือเสื่อมผิดปกติ และ 4.กลุ่มผู้ป่วยที่มีไข้ ผื่น ปวดข้อ ตาแดง หากรายใดเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งให้ซักประวัติเพื่อตรวจสอบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่เพื่อรักษาต่อไป

ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ประปรายในประเทศไทยและอาเซียน การตรวจจับและวินิจฉัยโรคทำได้รวดเร็วขึ้น โดยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.ทั้ง 14 แห่ง พร้อมตรวจซิกาไวรัสใช้เวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 50 ตัวอย่าง ส่วนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.ตรวจได้วันละ 200 ตัวอย่าง อีกทั้งเมื่อพบเด็กคลอดแล้วสงสัย ให้ส่งตรวจด้วยเทคนิคเดียวกัน

“โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ และอาการไม่รุนแรงเหมือนไข้เลือดออก หากกำจัดลูกน้ำยุงลายและป้องกันไม่ให้ยุงกัดจะสามารถลดการติดเชื้อได้ จึงขอความร่วมมือทุกบ้านทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปดูแลทุกบ้านได้ ที่กรุงเทพฯ เคยพบเมื่อต้นปีที่เขตสายไหม ตอนนั้นทุกฝ่ายร่วมกันควบคุม โดยเฉพาะประชาชนทุกคนช่วยกันควบคุมลูกน้ำยุงลาย ทำให้ควบคุมโรคได้ ดังนั้นประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก” นพ.โสภณกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image