“ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์” สู้ไม่ถอย12ปี สู่”นายกสภาทนายความ”

หากจะบอกว่าผลการเลือกตั้งนายกสภาทนายความคนที่ 11 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา สะท้อนนัยความต้องการเปลี่ยนแปลงของบรรดาทนายความทั่วประเทศคงไม่ผิด เมื่อเสียงส่วนใหญ่ให้ความไว้วางใจ เลือกนายกสภาทนายความคนใหม่ อย่าง ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในวาระนี้

หลังจากเก้าอี้ตัวนี้ เคยมีชื่อ นายสัก กอแสงเรือง และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ตีตราจองมาหลายสมัย นานกว่า 10 ปี

มติชนŽ สัมภาษณ์พิเศษ ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพรŽ ถึงมุมมองในการคว้าชัยชนะ ตลอดจนทิศทางการบริหาร ขับเคลื่อน และพัฒนาองค์กรวิชาชีพทนายความ บนเก้าอี้ผู้บริหารอีก 3 ปีนับจากนี้

ผลคะแนนครั้งนี้ ถือว่าได้รับชัยชนะค่อนข้างทิ้งห่าง จาก 7,630 เสียง กับ 5,014 เสียง คิดว่าสาเหตุใดที่ทนายความทั่วประเทศเทคะแนนให้

Advertisement

ทนายความส่วนหนึ่งคงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารงาน ต้องการสิ่งแปลกใหม่ ที่ผ่านมาทีมผู้บริหารชุดเดิมบริหารกันมานาน ขณะที่ผมต่อสู้มา 12 ปี ตั้งแต่ปี 2547 กระทั่งได้รับความไว้วางใจครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ผมเคยได้รับเลือกเป็นกรรมการสภาทนายความ 2 สมัย สมัยแรกปี 2538-2541 มี นายเกษม สรศักดิ์เกษม เป็นนายกสภาทนายความ สมัยที่สอง ปี 2541-2544 มี นายสัก กอแสงเรือง เป็นนายกสภาทนายความ เมื่อ 3 ปีก่อน ผมเคยลงชิงตำแหน่งนายกสภาทนายความ แข่งกับ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เหมือนครั้งนี้ ได้คะแนนสูสีกันมาก ห่างกันแค่ 500 คะแนน นายเดชอุดมได้คะแนนมากกว่า จึงได้นั่งเก้าอี้นายกสภาทนายความอีกสมัย

มาครั้งนี้ผมลงชิงกับคนเดิม ทีมเดิม ถ้าถามเหตุผลที่ได้รับชัยชนะ ผมคิดว่ามาจากหลายส่วน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องแก้กฎหมาย ผู้บริหารชุดเดิมเสนอแนวคิดแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ทนายความ ในหลายประเด็น แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือให้ทนายต่างชาติมาเป็นทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายในประเทศไทยได้ มีการเสนอร่างกฎหมายไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าทนายความไทยต้องพร้อมก่อนเปิดเสรี ถ้าเราเปิดโดยยังสู้ไม่ไหว เราจะเสียเปรียบ อย่างการลงทุนทำระบบ แค่นี้ก็สู้กันลำบากแล้ว

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทนายความฉบับนี้ หากผ่านแล้วจะส่งผลถึงพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพ ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ข้อ 39 ว่าด้วยงานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครทราบว่าทนายความเป็นอาชีพสงวน แต่ถ้าร่างตัวนี้ผ่าน เหมือนจะไปปลดล็อกตรงนี้ได้ด้วย เคยปลดมาทีหนึ่งแล้ว เมื่อครั้งแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการผ่าน เขาไปแก้ข้อ 39 ให้อนุญาโตตุลาการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้

Advertisement

จะถอนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทนายความ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทันทีหรือไม่

คณะผมมีเจตนาแน่วแน่อยู่แล้วว่าจะถอนร่างตัวนี้ออกมาแน่นอน เพราะเรารับปากกับทนายทั่วประเทศไว้ว่า ถ้าคณะของผมได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจะถอนร่างฯ เราประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ไม่ใช่เฉพาะทนายความต่างด้าว แต่ยังมีอีกหลายประเด็นไม่เห็นด้วย ถ้าจะทำร่างแก้ไขกฎหมายต้องถามทนายความก่อน หรือทำประชาพิจารณ์ เพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเขาโดยเฉพาะ ควรให้รับรู้ก่อน เห็นด้วยไหม เมื่อกฎหมายบังคับใช้จะได้ไม่เกิดปัญหา กฎหมายบางฉบับคนในองค์กรไม่รู้ พอออกมาก็เกิดปัญหา

จะถอนร่างแก้ไขกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมแน่นอน จะดำเนินการโดยด่วนทันทีที่รับมอบงานจากนายกสภาทนายความคนเดิม จะเข้าไปดูว่าคณะกรรมการชุดเดิมเขาดำเนินการไว้อย่างไร ถ้ายังไม่ถอน จะดำเนินการให้เสร็จสิ้น จะรีบประชุมขอมติกรรมการสภาทนายความเพื่อถอนร่างฯฉบับนี้

ถ้าเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาเป็นทนายความจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าต่างชาติเข้ามาจะเหมือนมีคู่แข่งขันมีกำลังทุนมากกว่าเรา ถ้าเข้ามาวางระบบได้ครบวงจร และเราไม่เตรียมพร้อมให้ดี จะสู้เขาไม่ได้ ความพร้อมที่ว่านี้คือ ต้องพัฒนาทนายความไทย ด้านวิชาความรู้ ผมเตรียมจัดโครงการเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของทนายความ เหมือนความรู้ด้านการแพทย์ ด้านแรงงาน ด้านครอบครัว ด้านคดีอาญา ต้องเตรียมความพร้อมก่อน รวมถึงภาษาต่างประเทศ ต้องพัฒนาตรงนี้ ปรับให้คนรุ่นใหม่ๆ เชี่ยวชาญตรงนี้ ต้องพัฒนาความรู้ความสามารถทนายความไทยให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากลก่อน จึงเปิดเสรีได้

การฟอร์มทีมกรรมการ มีส่วนทำให้ทนายความทั่วประเทศเชื่อมั่นและลงคะแนนให้หรือไม่

ผมมีคนที่มีความรู้ความสามารถหลายด้าน และมีประสบการณ์ มีอดีตเลขาธิการสภาทนายความมาร่วมทีมถึง 2 คน อาทิ นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา และว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง ส่วนของภาคมีนายกิตติ คุณะเกษม เป็นอดีตกรรมการภาคสมัยที่ 7 ทุกคนล้วนมีประสบการณ์มาช่วยงาน มีประสบการณ์เดินพบปะทนายมากว่า 10 ปี ทำงานว่าความอย่างน้อย 20-30 ปี อย่างผมว่าความมา 37 ปีแล้ว

วางแนวทางการบริหารและขับเคลื่อนองค์กรวิชาชีพทนายความ อย่างไรบ้าง

ทนายความเป็นวิชาชีพอิสระ ไม่มีสวัสดิการเหมือนอาชีพอื่น พวกเราไม่มีประกันสังคม มีแต่กองทุนสวัสดิการช่วยเหลือตามข้อบังคับคือต้องเดือดร้อน ถ้าไม่เดือดร้อนก็ไม่ช่วย และช่วยได้ไม่มาก ผมจะพัฒนาตรงนี้ให้ช่วยได้ทั่วถึงมากที่สุด จัดโครงการ เช่น ให้บริษัทประกันภัยมารับผิดชอบ เราจ่ายเบี้ยให้เหมือนบริษัทใหญ่ ทั้งเจ็บป่วย อุบัติเหตุ จะเปิดให้ทนายความสมัครเข้าร่วมโครงการ

หลักเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชนของสภาทนายความเป็นอย่างไร สามารถช่วยทุกคนที่มาร้องขอความช่วยเหลือได้หรือไม่

กฎหมายบอกว่า ต้องเข้าหลักเกณฑ์ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ดีสำหรับคนยากไร้ ผมจะทำโครงการให้ความรู้ทางด้านกฎหมายมากขึ้น เพราะไม่ว่าใครทำผิดแล้วบอกว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรู้ ควรให้เขามีความรู้พื้นฐานพวกนี้ ส่วนการช่วยเหลือทางการดำเนินคดี เราช่วยอยู่แล้ว

กรณีทนายความทำผิดเสียเอง ทั้งผิดจริยธรรม จรรยาบรรณและผิดอาญา จะดำเนินการอย่างไร

เรามีสำนักงานคณะกรรมการมรรยาท มีหน้าที่ดูแลว่าทนายความคนไหนทำผิดมรรยาทตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ เช่น มรรยาทต่อศาล มรรยาทต่อตัวความ มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน จะมีหลักเกณฑ์อยู่ เป็นอำนาจรัฐให้มาลงโทษผู้กระทำผิดได้ โทษมีตั้งแต่ตักเตือน หรือทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ อันนี้ไม่ถึงกับเป็นการลงโทษ ตลอดจนห้ามเป็นทนายความไม่เกิน 3 ปี และโทษหนักที่สุดคือ ลบชื่อจากทะเบียนเลย

คิดอย่างไรกับคำว่าทนายโจร

อันนี้ต้องปรับทัศนคติ บางทีทนายความช่วยคนกระทำความผิด เรายังไม่รู้ว่าเขากระทำผิดหรือเปล่า ถ้าผิดต้องรับโทษ แต่ถ้าไม่ผิด เขาจะรู้สึกว่าทำไมถึงลงโทษเขาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว กฎหมายอาญาบอกว่า ทุกคนต้องมีสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ ความจริงอยากผลักดันให้มีทนายความช่วยผู้ต้องหาตั้งแต่ชั้นถูกจับกุมด้วยซ้ำ ถ้าเขาผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ถ้าเขาไม่ผิดต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์จับผิดตัว อย่างคดีเชอรี่ แอน ดันแคน และอีกหลายเรื่อง เราร่วมกันป้องกันได้ ทนายความจะเป็นส่วนหนึ่งร่วมป้องกัน

ที่ผ่านมาสภาทนายความมักถูกตั้งข้อสังเกตว่าเชื่อมโยงกับการเมืองและสีเสื้อ

มาถึงยุคนี้ ทนายความต้องช่วยเหลือทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนเป็นประชาชนเหมือนกัน ไม่น่าจะแบ่งแยก ใครมาร้องขอเราก็ช่วยหมด เพราะไม่อย่างนั้นอีกฝ่ายอาจไม่กล้ามาพึ่งพา นโยบายของผมและคณะไม่เกี่ยวกับสี ไม่เกี่ยวกับการเมือง ผมจะเน้นโครงการที่พูดกันไว้คือช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย รวมถึงดูแลทนายความ เพราะองค์กรนี้เป็นองค์กรวิชาชีพของทนายความ ตอนนี้มีกฎหมายใหม่ออกมาเป็น 100 ฉบับ และยังรอเพื่อเตรียมออกอีก 100 กว่าฉบับ เราต้องมาดูและพัฒนาองค์กรเราแล้วว่า มีความรู้ทางกฎหมายแค่ไหน เราต้องพัฒนาคนของเราก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image