สสจ.เชียงราย เตรียมนำร่องจัด ‘นักโภชนาการคู่โรงเรียน’ สร้างเมนูคุณภาพ พัฒนาเด็กสมวัย

สง่า ดามาพงษ์

เมื่อวันที่ 12 กันยายน นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีนักโภชนาการประจำโรงเรียนแห่งละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่ดูแลอาหารให้มีคุณภาพตามหลักโภชนาการเพื่อเสริมศักยภาพทางด้านร่างกาย และการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้นตนได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานอย่างน้อยก็ให้มีนักโภชนาการอย่างน้อยอำเภอละ 1 คน หมุนเวียนไปให้ความรู้เรื่องโภชนาการที่ถูกต้องตามโรงเรียนต่างๆ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ล่าสุดตนได้หารือกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)เชียงรายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน และจัดเป็นโครงการนำร่องในการเอานักโภชนาการของโรงพยาบาลออกไปให้ความรู้เรื่องโภชนาการที่ถูกต้องแก่แม่ครัว และครูที่โรงเรียน ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเดินหน้าได้ในเร็วๆ นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมนักโภชนาการของโรงพยาบาลกว่า 30 คน เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการสื่อสารการให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว

นายสง่า กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อเทียบเรื่องคุณภาพอาหารกลางวันของนักเรียนในปัจจุบันกับเมื่อ 10 ปีก่อนถือว่าดีขึ้นบ้าง มีการเพิ่มงบประมาณจาก 13 บาท เป็น 20 บาทต่อหัวประชากรนักเรียน คุณภาพของเมนูอาหารดีขึ้นบ้างโดยมีผักเป็นส่วนประกอบในทุกมื้อ มีผลไม้ 2-3 มื้อต่อสัปดาห์ และลดเรื่องหวาน มัน เค็ม ลงบ้าง อีกทั้ง บางโรงเรียนยังมีการใช้โปรแกรมคำนวณประเภทอาหารที่ควรทำในแต่ละมื้อในระยะเวลา 1 เดือน ของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจนถึงวันนี้หากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังทำอยู่แค่นี้ ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องโภชนาการเด็ก ก็จะไม่สามารถบรรลุนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพเด็กไทยได้ในทุกด้าน ใน 10 ปีข้างหน้า ทั้งเรื่องสรีระที่ระบุว่าผู้ชายต้องสูงเฉลี่ย 180 เซนติเมตร ผู้หญิงต้องสูงเฉลี่ย170เซนติเมตร เพราะเรื่องโภชนาการเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าอาหารไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมก็จะกระทบกับพัฒนาการทางด้านร่างกาย และการเรียนรู้ต่างๆ

นายสง่า กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องช่วยกันทำ มี 6 ประการคือ 1. ให้มีนักโภชนาการประจำอยู่ทุกโรงเรียน 2. บุคลากรของโรงเรียนต้องได้รับการอบรมเพิ่มศักยภาพให้สามารถประกอบอาหารที่มีคุณภาพมากกว่านี้ 3. แต่ละโรงเรียน แต่ละจังหวัดต้องประกาศเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องเร่งทำ 4. เอาเรื่องการทำเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเข้ามาในโรงเรียนเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว 5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เทศบาลต้องมีส่วนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร่วมกับโรงเรียนในการส่งเสริมให้นักเรียนในพื้นที่ได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ มากกว่าการเป็นหน่วยงานกลางที่รับงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย และไปส่งต่อที่โรงเรียนเท่านั้น และ 6. ดึงผู้ปกครองเข้ามาร่วมในการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของนักเรียนให้ได้ โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับประทานขนมกรุบกรอบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมือน้อยมาก ในขณะที่การปรับเปลี่ยนตรงนี้จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังจากที่โรงเรียนและที่บ้าน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image