นักวิจัยพัฒนาชุดตรวจ‘ฉี่หนู’ ทราบผล 5 นาที หลังระบาด 4 จว.อีสาน

กรณีมีการระบาดของโรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซีส) ใน 4 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทั้งนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ส่งผลให้มีผู้ป่วยจำนวนกว่าร้อยราย และเสียชีวิตไปแล้ว 2 รายนั้น

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ศ.วันเพ็ญ ชัยคำภา เมธีวิจัยอาวุโสและศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า โรคดังกล่าวจัดเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายที่กลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขใหม่ของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคร้อนและชื้น หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีและถูกต้องอาจทำให้ไตวายและเสียชีวิตได้

ศ.วันเพ็ญกล่าวว่า ทั้งนี้ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าภูมิคุ้มกันโรคในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงและหายป่วยเกิดจากแอนติบอดีและเป็นภูมิคุ้มกันที่มีความเฉพาะมาก คือ เมื่อผู้ติดเชื้อหายป่วยแล้วจะมีภูมิกันเฉพาะต่อเชื้อสายพันธุ์ที่ติดเชื้อนั้นหรือเชื้อที่ใกล้เคียงเท่านั้น และอาจติดเชื้อกลุ่มอื่นได้ใหม่อีก อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโรคในปัจจุบันมีเฉพาะสำหรับใช้ในสัตว์ แต่ป้องกันได้เฉพาะเชื้อที่ตรงหรือใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้เตรียมวัคซีนเท่านั้น วัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูสำหรับคนและสัตว์อื่นๆ มีเฉพาะในบางประเทศ และยังไม่มีในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรป้องกันตนเองโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่อาจมีเชื้อปนเปื้อน หรือเมื่อมีไข้หลังการสัมผัสกับสิ่งที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ศ.วันเพ็ญกล่าวอีกว่า ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก สกว. เพื่อผลิตแอนติบอดีของมนุษย์พร้อมใช้สำหรับรักษาโรคฉี่หนูที่สามารถรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโรคฉี่หนูสายพันธุ์ต่างๆ และเพื่อใช้แทนยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะ หรือหากใช้ยาปฏิชีวนะแล้วอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ โดยการพัฒนาครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเชื้อโรคฉี่หนูมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ที่ก่อโรค นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้พัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคฉี่หนูที่รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยบ่งชี้แนวทางรักษาให้ถูกต้อง ทันท่วงที อีกทั้งสามารถตรวจเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้กว้างขวางครอบคลุมทุกสายพันธุ์ที่ก่อโรค โดยการตรวจสอบหาโปรตีนสำคัญของเชื้อในร่างกายของผู้ติดเชื้อโรคฉี่หนูตั้งแต่ในขณะเริ่มมีอาการ โดยใช้เวลาในการวินิจฉัยเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่การตรวจสอบเชื้อก่อโรคด้วยวิธีมาตรฐานในปัจจุบันด้วยวิธีเพาะเชื้อหรือตรวจหาภูมิต้านทานที่เชื้อก่อโรคกระตุ้นให้สร้างขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลานาน 7-10 วัน

Advertisement

ศ.วันเพ็ญกล่าวว่า ปัจจุบันได้นำงานวิจัยต้นแบบของ สกว. ที่เป็นชุดตรวจแบบเมมเบรนอีไลซ่าไปต่อยอดพัฒนาเป็นชุดตรวจอีกแบบหนึ่งที่มีความแม่นยำพอๆ กันแต่จะรวดเร็วกว่า และใช้ได้ง่ายข้างเตียงผู้ป่วย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งชุดตรวจใหม่นี้ใช้หลักการอิมโมโนโครมาโตกราฟ หรือ ICT โดยมีลักษณะคล้ายชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ทำการตรวจโดยเพียงหยดซีรัมหรือพลาสมาของผู้ป่วยลงในหลุมของชุดตรวจ ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็ทราบผล คือผลบวกจะปรากฏเป็นแถบสีแดงสองแถบ ทำให้สามารถใช้ข้อมูลไปประกอบการรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image