ลุ้น ผลล็อกดาวน์รอบแรก…ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ใน ‘กทม.-ปริมณฑล’ จะแผ่วลงไหม

ลุ้น ผลล็อกดาวน์รอบแรก..ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ใน ‘กทม.-ปริมณฑล’ จะแผ่วลงไหม

วันที่ 24 กรกฎาคม ต้องจับตาดูจำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะเริ่มชะลอตัวลงหรือไม่ หลังเจอมาตรการล็อกดาวน์ล็อตแรก 10 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติออกมาชี้แจงประเด็นเรื่องการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ในปี 2565 จะมีใครงัดข้อมูลอะไรออกมาโต้อีกไหม

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงว่า แนวโน้มสถานการณ์โควิดในประเทศมีรายงานผู้ติดเชื้อรายวันเป็นหลักหมื่นรายตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งวันที่ 23 กรกฎาคมติดเชื้อใหม่ 14,575 ราย เสียชีวิต 114 ราย เป็นการระบาดในวงกว้าง แต่ถ้าดูแนวโน้มการติดเชื้อระดับประเทศ จะเห็นว่ารายงานติดเชื้อรายใหม่อยู่ในลักษณะขาขึ้นสูงมากเพิ่มเป็น 2-3 เท่า ในทุกสัปดาห์ แต่หากแยกเป็นรายพื้นที่ พบว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นตอนนี้พบมากที่ต่างจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล แนวโน้มติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้เพิ่มสูงเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงแต่เริ่มชะลอตัว เป็นผลจากมาตรการที่เราพยายามช่วยกันก็จะช่วยชะลอการติดเชื้อต่างๆ ลงมาได้มากขึ้น

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า แนวโน้มจำนวนการเสียชีวิตในประเทศไทยในช่วง 1 เดือนย้อนหลัง มีการเสียชีวิตต่ำกว่า 50 รายต่อวัน แต่ขณะนี้ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 100 รายต่อวัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เมื่อสัดส่วนผู้ติดเชื้อมากขึ้น จะมีบางส่วนมีอาการมาก อาการรุนแรง ก็จะทำให้จำนวนการเสียชีวิตในขณะนี้เป็นแนวโน้มขาขึ้นในแต่ละสัปดาห์ อย่างไรก็ตามช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลในกรุงเทพฯ การติดเชื้อเริ่มชะลอตัว แนวโน้มผู้เสียชีวิตก็เชื่อว่าสัปดาห์ถัดมาไม่น่าจะสูงไปกว่า 100 ราย

ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขออธิบายเรื่องโคแวกซ์ เพราะอาจมีความเข้าใจและอาจนำไปปนกันระหว่าง โคแวกซ์ AMC (Advance Market Commitment: AMC) และโคแวกซ์ SFP (Self-financing participant:) ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศในส่วนของโคแวกซ์ AMC 92 ประเทศ เนื่องจากเราเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper Middle Income) เวลาที่มักมีคำเปรียบเทียบว่า อาเซียนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีน จริงๆ ต้องแยกประเทศอาเซียนเป็น 2 กลุ่ม อย่าง โคแวกซ์ AMC เป็นประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้า ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนโคแวกซ์ SFP ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนด้วยเงินทุนของประเทศตนเอง ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน รวมทั้งไทย หากไม่มีความเข้าใจส่วนนี้ ก็จะนำไปผสมกัน และคิดว่าเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีนฟรี ซึ่งไม่ใช่ เพราะต้องจ่ายเงิน

Advertisement

นพ.นครกล่าวว่า เมื่อดูโครงการโคแวกซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ได้ส่งมอบวัคซีนไปแล้ว 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ เมื่อหารแล้วแต่ละประเทศได้รับวัคซีนประเทศละ 1 ล้านโดส ดังนั้น เหตุผลเดิมที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เพราะต้องจ่ายเงินเอง และไม่รู้ว่าจะได้รับวัคซีนเมื่อไร และเหตุการณ์เชิงประจักษ์ ณ เวลานี้ มีการส่งมอบวัคซีน 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ เหตุผลจึงเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าเราตัดสินใจ ไม่จองวัคซีนโคแวกซ์แล้วผิดพลาด

“ส่วนเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ในปีหน้า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป การที่ผู้ผลิตส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศรายได้สูง ที่จองไว้จนเกินพอ และมีการบริจาคออกมานั้น เริ่มมีซัพพลายที่เกินพอจากประเทศที่จองเกินล่วงหน้า แต่ซัพพลายด์จริงที่จะเกิดขึ้นใหม่ยังขาดอยู่ เพียงแต่เราวิเคราะห์สถานการณ์ปี 2565 ดูทิศทางแล้วว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีน หลังจากได้ซัพพลายให้กับประเทศรายได้สูงจนเกินพอ ต่อไปก็จะกลับมาดูในส่วน Global Solidarity จะเกิดขึ้นในปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ จึงต้องพูดกันตรงๆ จะได้เข้าใจ ไม่งั้นจะคิดว่าเรากลับไปกลับมา ซึ่งคนละเรื่อง” นพ.นครกล่าว

นพ.นครกล่าวว่า ปี 2565 แนวโน้มผู้ผลิตหลายรายจะเริ่มส่งมอบให้กับโครงการโคแวกซ์ จึงเป็นที่มาของการร่วมโครงการโคแวกซ์ เราไม่ได้มุ่งหวังปีนี้ เพราะเขาส่งไม่ทันอยู่แล้ว แต่เรามุ่งปีหน้า เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเข้ามาของวัคซีนปีหน้า ดังนั้น การเข้าร่วมโคแวกซ์ ณ เวลานี้ จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงสำหรับอนาคตในปีหน้าที่ประเทศไทยจะมีช่องทางเข้าถึงวัคซีน เป็นการบริหารตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลง” นพ.นครกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image