สปสช.เพิ่ม 1330 อีก 500 คู่สาย รับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา-สพฉ.ส่งแพทย์ประกบติด

สปสช.เพิ่ม 1330 อีก 500 คู่สาย รับผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา เจรจา ‘กสทช.’ ให้โทรฟรี ส่วน สพฉ.ส่งแพทย์ประกบติด

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 กรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับภูมิลำเนาและเข้าสู่ระบบการรักษา

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจสถานการณ์ร่วมกันว่าปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจริงๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นสีเขียว จำเป็นอย่างยิ่งต้องเก็บเตียงไว้ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการคือสีเหลืองกับสีแดง ดังนั้น ผู้ป่วยสีเขียวจะมีนวัตกรรมหลายๆ อย่างเกิดขึ้น เช่น ศูนย์พักคอย เป็นต้น การส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดูแลตัวเองได้ที่บ้าน โดยปลายทางจะมีจัดระบบดูแลให้อยู่แล้ว

กด 1330 และสแกนคิวอาร์โค้ดสะดวกที่สุด

ปัจจุบันเราทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงคมนาคม ทหาร ช่องทางการติดต่อมี 2 ช่องทาง หากถนัดที่จะใช้ออนไลน์ จะมีเปิดเว็บไซต์และมีสแกนคิวอาร์โค้ด ให้กรอกข้อมูล ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน วันที่พร้อมจะเดินทาง ซึ่งข้อมูลจะเข้าสู่ระบบ

“ถ้าไม่ถนัดก็สามารถโทร 1330 กด 15 ของ สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่สอบถามรายละเอียดบันทึกข้อมูลเหมือนกับที่กรอกทางเว็บไซต์และสแกนคิวอาร์โค้ด ช่วงนี้คนโทรสายด่วนเป็นจำนวนมาก อาจจะต้องรอสายนิดหนึ่ง เราจะตัดข้อมูลทุก 24 ชั่วโมง“

Advertisement

ทั้งนี้ วิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขและหลายหน่วยงานที่ร่วมกันจะเป็นระบบมีมาตรฐาน จะประสานปลายทางให้เรียบร้อยว่าพร้อมจะรับหรือไม่ เนื่องจากมีการกลับต่างจังหวัดค่อนข้างมาก แต่เพื่อให้ปลอดภัยท่านลงทะเบียนเข้ามาในระบบ การทำจะเป็นไปตามมาตรฐาน ตอนนี้ได้รับความร่วมมือกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลด้วย ในการที่จะทำทรานส์เฟอร์ออฟแคร์ จะส่งกลับอย่างไรให้ปลอดภัย เพราะถ้ากลับเองบางครั้งจะทำให้ปลายทางไม่ทราบว่าเดินทางมาจากกรุงเทพฯ กลับไปที่บ้านแล้ว การดูแลอาจจะไม่ครบวงจร อาจจะเกิดการแพร่ระบาดได้

เพิ่มอีก 500 คู่สาย เร่งเจรจา กสทช.งดเก็บค่าโทร

“ขอย้ำว่าที่ต้องการจะกลับภูมิลำเนาให้แจ้ง 2 ช่องทางดังที่ได้กล่าวมา บันทึกนี้จะมีการตัดส่งข้อมูลทุกวัน 8 โมงเช้าของวันพรุ่งนี้ ข้อมูลจะถึงกระทรวงสาธารณสุขในทันที ไม่มีสะสมไว้ ท่านที่บ่นว่ากด 1330 รอนาน ตอนนี้เรามี 1,600 คู่สาย จะเพิ่มอีก 500 คู่สายรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นมาก และมีบางท่านสอบถามโทรมายังเสียตังค์หรือไม่ ตอนนี้ยังเสียอยู่ จะเร่งประสานไปยัง กสทช.งดค่าบริการโทร 1330 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน”

ทั้งนี้ เมื่อวาน (23 กรกฎาคม) สปสช.ทำเรื่องของโฮมไอโซเลชั่น ส่งรายชื่อประชาชนที่ลงทะเบียนในระบบในศูนย์ข้อมูลไปแล้ว 6,555 ราย และส่งโค้ดอาหารไปทาง sms ทั้งหมดแล้ว จะมีโค้ด มีลิงก์ คู่มือการสั่งอาหารอย่างไร ปรากฏว่ามีคนโทรมาบอกว่าสั่งไม่ได้ วันนี้จะเชิญบริษัทฟู้ดดิลิเวอรีรับทราบและอธิบายถึงขั้นตอนการสั่งอาหารต่อไป

Advertisement

สพฉ.จัดบุคลากรแพทย์ประกบ

เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครจำนวนมากนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหลายภาคส่วน ได้มีการจัดหาโรงพยาบาลสนาม จุดคัดแยก มีโรงพยาบาลสนามที่บุษราคัม

ในช่วงแรกยังมีจำนวนผู้ป่วยพอรับได้ ทาง สพฉ.ได้รับมอบหมายจาก EOC ของกระทรวงสาธารณสุขให้ทำงานร่วมกับ กทม.รับผู้ป่วยจากบ้านไปยังโรงพยาบาลสนาม ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากจะมีส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทันที จึงมีนโยบายทำโฮมไอโซเลชั่น จะเป็นช่องทางหนึ่งทำให้คนอยู่ใน กทม.หรือไม่สามารถเดินทางไปที่อื่นได้ อยู่รักษาตัวที่บ้านภายใต้การดูแลของระบบ สปสช. สำนักอนามัย เป็นต้น

ในกรณีที่ต้องกลับต่างจังหวัด สำหรับผู้ที่มีบ้านต่างจังหวัด ในภาพรวมรัฐบาลให้หลายหน่วยงานร่วมมือกันใช้หมายเลข 1330 กด 15 เมื่อข้อมูลได้รับจาก สปสช.จะประสานเช็กความพร้อมที่โรงพยาบาลปลายทางหรือจังหวัดปลายทาง เตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามหรือสถานที่กักตัว และ สปสช.ต้องตรวจสอบความพร้อมของผู้ป่วยด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน เช่น ถ้าอาการรุนแรงอาจจะไม่แนะนำเดินทางกลับต่างจังหวัด อาจจะส่งรถฉุกเฉินส่งเข้าที่กักตัวใน กทม.ที่เหมาะสมต่อไป แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเขียว สามารถเดินทาง จะจัดคิวหรือพาหนะในการดำเนินการ

ขณะนี้ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม เตรียมรถไฟ รถ บขส. รถตู้ ไว้บริการ และประสานกระทรวงกลาโหม ส่วนต่างๆ ของกองทัพบก จัดให้มีรถขนาดใหญ่หรือเครื่องบิน

“สำหรับเครื่องบินหรือรถไฟน่าจะเหมาะกับการเดินทางไกล แต่เครื่องบินอาจจะมีเงื่อนไขพิเศษแตกต่างจากรถ เช่น มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงพอ กระบวนการจะซับซ้อนกว่าทางบก ต้องมีการตรวจเอกซเรย์ยืนยันว่าการเดินทางบนเครื่องบินไม่ได้ทำอันตรายให้กับคนที่ต้องเดินทาง”

เลขาฯ สพฉ.กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทางบก อากาศ ทาง สพฉ.จะประสานดูแลระหว่างเดินทาง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ติดตามไปด้วย ถ้าเป็นรถบัสหรือรถทัวร์จะมีรถฉุกเฉินวิ่งตามไป ถ้าเป็นรถไฟจะมีบุคลากรทางการแพทย์ขึ้นไปกับขบวนด้วย ด้านเครื่องบินก็ต้องมีบุคลากรที่ต้องขึ้นบินไปด้วยเพื่อดูแลความปลอดภัย เพราะการไปของทีมแพทย์ต้องเตรียมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญหากเกิดเหตุฉุกเฉิน สำหรับทางบกหากระหว่างทางเกิดเหตุฉุกเฉิน ทาง สพฉ.จะประสาน 1669 จังหวัดที่อยู่ระหว่างทางในการเตรียมความพร้อมความปลอดภัย

บริการฟรีจากต้นทางถึงปลายทาง

พร้อมย้ำเตือนว่า หลังจากประสาน 1330 หรือลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นแล้ว ข้อมูลจะส่งมายังกระทรงวงสาธารณสุข สพฉ.จะจัดรถบริการ 3 ช่วงคือ ช่วงแรกรับจากบ้านไปส่งสถานีรถไฟ รถ บขส.หรือเครื่องบิน ขึ้นอยู่กับยานพาหนะที่ใช้ เพราะไม่อยากส่งออกไปไกล จะต้องใช้รถดูแลประชาชนใน กทม.อยู่พอสมควร หลังเดินทางแล้ว จังหวัดปลายทางจะจัดรถมารับ เช่น สถานีรถไฟ บริการทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่าย และมีบุคลากรทางการแพทย์ประกบไปด้วยเพื่อความปลอดภัย ขอให้เชื่อมั่นว่าถ้าประสานมายังระบบที่รัฐจัดให้จะเกิดความปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image