ศาลอาญา วางแนวพิจารณาคำร้องปิดเว็บ จัดไต่สวนใน 7 วัน เน้นให้โอกาสคัดค้าน ตั้ง ‘มุขเมธิน’ ดูเรื่องนี้

ศาลอาญา วางแนวพิจารณาคำร้องปิดเว็บ จัดไต่สวนใน 7 วัน เน้นให้โอกาสคัดค้าน ตั้ง ‘มุขเมธิน’ ดูเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจาก นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รับผิดชอบคดียื่นคำร้องขอปิดเว็บไซต์ ระงับการเข้าถึงข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงการกำหนดแนวทางมาตรฐานการพิจารณาของศาลอาญา หลังจากมีการยื่นคำร้องสู่ศาลอาญาต่อเนื่อง นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 บังคับใช้ว่า จากกรณีศึกษาการยื่นคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กับบริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ในคดีหมายเลขแดง พศ.339/2563 ที่ขอให้ปิดทีวีทั้งช่อง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 35 วรรคสอง เขียนว่าห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข่าวสาร ดังนั้นการสั่งปิดสื่อจึงทำไม่ได้โดยเด็ดขาด ส่วนวิธีการดำเนินกระบวนการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับคำร้องขอการระงับการเข้าถึงข้อมูลบนเว็บไซต์ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 วรรคสี่ ระบุเพียงว่าให้นำวิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาบังคับใช้โดยอนุโลม เราจึงต้องตีความตัวบทกฎหมายมากำหนดเป็นแนวทางพิจารณาของศาลอาญาให้ชัดเจน ถูกต้องในทางนิติศาสตร์เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องตามหลักสากล

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงอาศัยอำนาจตาม    พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (4) ออก คำแนะนำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่าด้วยแนวทางการพิจารณาคำร้องขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20 เพื่อให้ผู้พิพากษาศาลอาญามีแนวทางในการปฏิบัติและพิจารณาคำร้องอย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจน อาทิ ผู้ร้องต้องแยกคำร้องเป็นรายข้อกล่าวหา แต่ละคำร้องควรมีฐานความผิดเดียว เช่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ความผิดฐานเผยแพร่สิ่งลามกอนาจาร หรือการพนัน โดยแต่ละคำร้องอาจขอให้ปิดข้อมูลคอมพิวเตอร์หลายชุด (URL) ก็ได้, ให้มีการไต่สวนโดยการส่งสำเนาให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาเพื่อให้โอกาสที่จะคัดค้าน หากไม่มีคำคัดค้านก็ให้ไต่สวนฝ่ายเดียวโดยพิจารณาจากเอกสารของผู้ร้องเป็นหลัก คือภาระการพิสูจน์จะอยู่ที่ฝ่ายผู้ร้องจะต้องนำหลักฐานมายืนยันให้ศาลเห็น, สำหรับเว็บไซต์ให้ข้อมูลข่าวสาร ศาลจะไม่ปิดช่องทางการสื่อสารของสื่อหรือบุคคล การสั่งลบหรือห้ามเผยแพร่จะทำได้เฉพาะข้อความที่ศาลเห็นว่าขัดต่อกฎหมายเป็นรายข้อความและไม่ปิดกั้นการสื่อสารในอนาคต เนื่องจากเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรคสอง คุ้มครองสิทธิของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสาร และมาตรา 36 คุ้มครองสิทธิในการสื่อสาร

สำหรับการไต่สวนจะดำเนินการภายใน 7 วันนับจากวันที่ยื่นคำร้อง เพื่อให้สอดคล้องสร้างสมดุลระหว่างความเร็วที่กระทรวงดีอีเอส ต้องทำหน้าที่การปราบปรามเว็บผิดกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ กับความเป็นธรรมพิจารณา โดยเปิดเผยให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่การคัดค้าน ทั้งนี้ แม้เน้นตามหลักการไต่สวน 2 ฝ่าย แต่มีข้อยกเว้นไต่สวนฝ่ายเดียวได้ในเหตุจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน ตัวอย่างกรณีมีการเสนอข่าวว่าธนาคารแห่งหนึ่งกำลังจะล้ม ให้รีบไปถอนเงิน ขณะที่การยื่นคำคัดค้านจะขอขยายเวลา หรือขอเลื่อนวันไต่สวนได้หากมีเหตุจำเป็น

Advertisement

“ในมุมมองขององค์กรศาลเราเชื่อว่าถ้าประชาชนทุกฝ่ายรู้ว่ามีกระบวนการที่เป็นธรรมต่อเขา ประชาชนจะเชื่อฟังและศรัทธาในกระบวนการทำงานในกระบวนการของรัฐ และสิ่งนี้ในที่สุดแล้วจะสร้างความมั่นคงของรัฐในระยะยาว ยิ่งกว่าการปราบปราม ไม่ใช่เราไม่แคร์ความมั่นคง เราแคร์ความมั่นคง แต่เรามีมุมมองเกี่ยวกับความมั่นคงในอีกมุมหนึ่งด้วยในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการ คือ มิติเรื่องความเป็นธรรม ถ้ามีความเป็นธรรมประเทศก็จะมั่นคง ซึ่งก็เป็นภาพที่องค์กรตุลาการทั่วโลกจะมองแบบที่เรามอง คำวินิจฉัยของศาลที่ออกไปในช่วงหลังที่แสดงว่าศาลให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เพราะว่าศาลหยิบยกคุณค่าขึ้นมาตามอำเภอใจ แต่เป็นเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดรับรองสิทธินี้ไว้ชัดเจนและกำหนดว่าการที่รัฐจะใช้เหตุผลอื่นๆ รวมทั้งเรื่องความมั่นคงในการจำกัดสิทธินั้นเป็นข้อยกเว้น ดังนั้นศาลจึงตีความกฎหมายและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ” นายมุขเมธินระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image