มติบอร์ดสปส.ให้สิทธิทันตกรรม900บ.ไร้เงื่อนไข ไม่สำรองจ่าย78แห่ง ดีเดย์ก.ย.

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน ว่า สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ที่เพิ่มค่าบริการทันตกรรมจาก 600 บาท เป็น 900 บาท/ปี แต่มีข้อท้วงติงว่า เมื่อมีการเพิ่มค่าบริการทันตกรรมก็ไม่ควรกำหนดอัตราค่าบริการทางการแพทย์ หรือบัญชีแนบท้าย แต่ทางบอร์ดการแพทย์ สปส.มีความกังวลว่า หากเหมาจ่ายทั้งหมดจะทำให้ประสบปัญหาบางคลินิกเบิกทันตกรรมเต็มที่ จากอุดฟันอาจทำได้ 2 ครั้ง ก็จะเหลือเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมีข้อเรียกร้องมาทาง สปส.ก็ไม่นิ่งนอนใจ และทางบอร์ดการแพทย์ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 และนำมติเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีมติเห็นชอบตามบอร์ดการแพทย์

นายโกวิทกล่าวอีกว่า ที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบดังนี้ 1.ยกเลิกบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ซึ่งกำหนดอัตราค่าบริการต่างๆ ทั้งอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด โดยมีประกาศไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าบริการดังกล่าว 2.กำหนดให้สถานพยาบาลคู่สัญญาของ สปส.มีสิทธิให้บริการทันตกรรมผู้ประกันตน ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ในอัตราตามความเป็นจริง แต่ไม่เกินกำหนด 900 บาท/ราย/ปี โดยสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ได้ทำข้อตกลงกับ สปส.นั้นนำร่อง 30 หน่วยบริการใน 19 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนจำนวน 78 แห่ง โดยผู้ประกันตนสามารถไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ทั้งนี้ ให้สอบถามรายละเอียดสถานพยาบาลผ่านสายด่วน โทร 1506 ขณะเดียวกัน สปส.จะแจ้งไปยังสถานประกอบการเพื่อแจ้งผู้ประกันตนอีกทาง

นายโกวิทกล่าวอีกว่า 3.สปส.จะขยายหน่วยบริการรับทันตกรรมเพิ่มเติม โดยจะประสานขอความร่วมมือสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสังกัดอื่นๆ ว่าให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมไม่ต้องสำรองจ่ายในวงเงิน 900 บาท/ปี และให้สถานพยาบาลนั้นๆ เบิกจ่ายกับ สปส.โดยตรง ส่วนสถานพยาบาลเอกชน หรือคลินิกที่ทำความตกลงกับ สปส.เพิ่มเติมนั้นจะต้องแจ้งค่าบริการทันตกรรมกรณีต่างๆ ให้กับ สปส.เพื่อแจ้งต่อผู้ประกันตนต่อไป ซึ่งในส่วนของสถานพยาบาลรัฐนั้นจะมีราคากลางของตนเองอยู่ อย่างกระทรวงสาธารณสุขก็จะมีอัตรากลางของตนเอง แต่ในกรณีผู้ประกันตนที่ต้องการความสะดวก ไม่ต้องการเข้าสถานพยาบาลภาครัฐ แต่ไปเข้าตามคลินิกทั่วไปก็ยังรับบริการได้เหมือนเดิม แต่ต้องสำรองจ่าย 900 บาท และต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเอง

“สรุปเบื้องต้นจากนี้ไปผู้ประกันตนสามารถรับบริการทันตกรรม 900 บาทได้โดยไม่กำหนดอัตราค่าบริการรายกรณี ทั้งนี้จะออกประกาศใหม่เพื่อให้สามารถเข้ารับบริการได้ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน 78 แห่ง และจะขยายไม่ต้องสำรองจ่ายทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2560 ส่วนผู้ประกันตนท่านไหนไม่สะดวก สามารถรับบริการคลินิกอื่นๆ ได้ ในวงเงิน 900 บาท/ปี และนำมาเบิกกับ สปส. แต่หากมีค่าบริการเพิ่มเติมต้องยินยอมจ่ายส่วนต่างเอง ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกันตนทุกคน” เลขาธิการ สปส.กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการนำร่องทำฟันฯจะดำเนินใน 30 หน่วยบริการ ใน 19 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ ปทุมธานี อ่างทอง ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ ชัยภูมิ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร พังงา สตูล จันทบุรี บึงกาฬ มุกดาหาร ยโสธร แพร่ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image