ชุมชนในกรุงจี้ กทม.เร่งศูนย์พักคอยฯ ขอใช้โรงเรียนแยกผู้ป่วยโควิดออกจากบ้าน

ชุมชนในกรุงจี้ กทม.เร่งศูนย์พักคอยฯ ขอใช้โรงเรียนแยกผู้ป่วยโควิดออกจากบ้าน

กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเกิดปัญหาระบบให้บริการทางการ แพทย์และสาธารณสุขเริ่มไม่เพียงพอ จนต้องมีการปรับระบบการดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโดยให้กลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่มากรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชนนั้น

วันนี้ (26ก.ค.64) กลุ่มชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้ออกมาเรียกร้องหน่วยงานราชการให้เร่งช่วยเหลือชาวบ้าน ทั้งนี้ นางนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กล่าวว่า ขณะนี้ชาวชุมชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโควิด-19 อย่างเต็มที่ ดูแลกันเองอย่างสุดกำลัง แต่อยากเห็นกลไกของรัฐ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยื่นมือเข้ามาช่วย

“สิ่งที่ชุมชนต้องเผชิญคือ จุดตรวจโควิด-19 ไม่เพียงพอ และผลตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค ใช้ยื่นเพื่อเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลไม่ได้ คนที่ป่วยหนักไม่มีเตียง ไม่มีรถรับไปรักษา และไม่ทราบขั้นตอนรับการรักษาการกินอยู่ว่าต้องทำอย่างไร จึงเกิดเหตุการณ์ขอไปตายเอาดาบหน้า บุกไปเองที่ รพ.สร้างความโกลาหล วุ่นวาย หรือกลายเป็นภาพคนป่วยหนักอาการรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด จึงขอวอนความชัดเจน ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นระบบรักษาตัวเองในชุมชน หรือ รักษาตัวเองที่บ้าน” นางนัยนา กล่าว

น.ส.วงจันทร์ จันทร์ยิ้ม อาสาสมัครโควิด เคหะชุมชนคลองเก้า เขตคลองสามวา กล่าวว่า ขณะนี้ชาวชุมชนกำลังเร่งทำศูนย์แยกกักตัวในชุมชน หรือ CI เพื่อลดความแออัดในบ้าน โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่ารับดูแลเฉพาะคนในชุมชนเท่านั้น ตอนนี้ได้รับบริจาคสิ่งของและเงินจากคนในชุมชน องค์กรภายนอกและพันธมิตร การสนับสนุนและช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าถ้าในชุมชนต่างๆ มีการจัดตั้ง CI มีการหนุนเสริมอย่างเป็นระบบจากรัฐ จะเป็นกลไกสำคัญในการสู้ศึกครั้งนี้

Advertisement

ด้าน นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ กรรมการชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย และผู้ประสานงานเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง กล่าวว่า จากการหารือระหว่างแกนนำชุมชนและองค์กรพันธมิตร มีข้อเสนอต่อ กทม.ดังนี้

1.เครือข่ายสนับสนุน กทม.ในการจัดตั้งศูนย์พักคอย รอการส่งต่อผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือ CI กทม.ต้องมีแผนสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในระดับชุมชนด้วย โดยดึงศักยภาพของชุมชนขึ้นมาร่วมรับมือ เติมเต็มสนับสนุนการรักษาดูแลผู้ป่วย การจัดสถานที่ให้ถูกหลักสุขอนามัย การตรวจคัดกรองเชิงรุก ตลอดจนงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยที่พร้อมรักษาตัวที่บ้าน หรือ HI กทม.ต้องมีความชัดเจน เชื่อมต่อการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกถูกเทถูกทิ้ง ทั้งนี้ กทม.ต้องเร่งดำเนินการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในสังกัด กทม. เข้ามาสนับสนุน ลงมาทำงานร่วมกับคณะทำงานชุมชน การรักษาออนไลน์-สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันและยารักษา การเข้าถึงวัคซีนคุณภาพ อุปกรณ์ตรวจโควิดต้องราคาถูกหรือฟรี

2.กทม.ควรใช้พื้นที่โรงเรียนในสังกัดของ กทม.ทำเป็น CI สนับสนุนการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน (กรณีสีเหลือง, สีแดง) เช่น รถตู้ รถกระบะ ของหน่วยงานใน กทม.ปรับเป็นรถรับส่งผู้ป่วย เป็นต้น

Advertisement

และ 3.กทม.ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนอย่างถูกต้องในเรื่องการจัดทำศูนย์พักคอย ว่าจะมีผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ อย่างไร เพื่อลดความหวาดระแวงและความเข้าใจผิด

วันเดียวกัน นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม. ไปตรวจความพร้อมการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ เขตวังทองหลาง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ณ วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย เขตวังทองหลาง และศูนย์พักคอยฯ เขตดินแดง ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนฯ ไทย-ญี่ปุ่น

สำหรับศูนย์พักคอยฯ เขตวังทองหลาง ใช้พื้นที่บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ (โรงยิม) บริเวณชั้น 1 วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 50 เตียง และผู้ป่วยหญิง 50 เตียง มี รพ.ลาดพร้าว บริหารจัดการผู้ป่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าเปิดให้บริการได้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ส่วนศูนย์พักคอยฯ เขตดินแดง อยู่ในการดูแลของ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง ใช้ไปแล้ว 94 เตียง คงเหลือ 106 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ค. 64 เวลา 12.00 น.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image