หมอรามาไม่ยืนยัน ‘สไลม์’ ทำเด็กติดเชื้อ เตือนผสมเล่นเองเสี่ยงรับสารเคมี

เมื่อวันที่ 14 กันยายน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงกรณีที่มีการเผยแพร่ผ่านทางโลกโซเซียลว่ามีเด็กหญิงคนหนึ่งป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดเนื่องจากสูดดมกาวในของเล่นเด็ก “สไลม์” หรือน้ำลายเอเลียน ว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุของอาการติดเชื้อที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบปัญหาของสไลม์ 3 ประเด็น คือ 1.การสอนเล่นทางอินเตอร์เน็ต สอนการใช้ส่วนผสมต่างๆ โดยเฉพาะการผสมสารเคมี บางคลิปมีให้ผสมครีมโกนหนวดหรือกระทั่งผงซักฟอกกับแป้งโด 2.ส่วนผสมทำสไลม์ มีน้ำยาสไลม์ ซึ่งไม่รู้ว่ามีส่วนผสมของอะไรมาบ้าง แต่มีบางเจ้าที่ตรวจสอบพบว่ามีการผสมสารบอแร็กซ์เพื่อคงสภาพ และไม่ให้สไลม์บูดเน่า ซึ่งสารบอแร็กซ์นั้นถือเป็นสารอันตรายที่มีผลต่อการทำงานของไต ทำให้ไตอักเสบ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการผสมกาว โดยในกาวจะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ทั้งหมดอาจจะมีผลกระทบต่อสมองเด็กในระยะยาว และ 3.สไลม์สำเร็จรูปที่วางขายตามหน้าโรงเรียน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ แถลงอีกว่า เคยออกมาเตือนเรื่องอันตรายจากเล่นสไลม์มาแล้ว แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีการขายอย่างแพร่หลายที่หน้าโรงเรียน สามารถหาซื้อได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมีทั้งประเภทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และที่ไม่ได้รับการรับรอง โดยในส่วนที่ไม่ได้รับการรับรองนั้นถือว่าผิดกฎหมายสามารถจับกุมได้ ส่วนที่ได้มาตรฐาน มอก.แล้วนั้น จะถือว่าสารต่างๆ ที่นำมาผสมนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่อนุญาต อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีตรา มอก. แต่ก็อาจจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยเช่นกันเนื่องจากปัจจุบันพบการปลอมแปลงตรามาตรฐาน มอก. ทำให้ไม่สามารถวางใจได้ ดังนั้น หากไม่แน่ใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ และโรงเรียนควรมีการเข้มงวดเรื่องกายขายของเล่นเด็กให้มากๆ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำลังเข้าไปตรวจสอบแล้ว

“เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเราได้ไปซื้อสไลม์หน้าโรงเรียนละแวก รพ.รามาฯ ซึ่งหาซื้อได้ง่ายมาก เพื่อเอามาตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจหาโลหะหนักอย่างง่ายก็พบว่าสไลม์ที่มี มอก.นั้น มีสารโลหะหนักอาทิ ตะกั่ว สารหนู ปรอท ฯลฯ แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ส่วนที่ไม่มี มอก.ก็พบสารโลหะหนักที่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกัน แม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแต่หากเล่นและเผลอได้รับเข้าสู่ร่างกายจะเป็นการสะสมทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาวได้ แต่ทั้งนี้เครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจหาเพียงโลหะหนักเท่านั้นส่วนสารตัวอื่นๆ จะต้องอาศัยวิธีการตรวจสอบที่แตกต่างออกไป” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image