‘ปิยะสกล’ เดินหน้าใช้พ.ร.บ.การสาธารณสุข ปรามบ้านละเลยปล่อยยุงลายก่อโรค

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวมาตรการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ห่างไกลโรคไข้เลือดออก และซิกา ว่า จริงๆแล้วในเรื่องการใช้กฎหมายควบคุมยุงลายนั้น ต้องย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา พระดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับยุงลาย คือ เป็นพาหะนำโรคสู่คนไทย และต้องดำเนินการควบคุมป้องกันโรค แต่ปรากฎว่าผ่านมา 20 ปี ไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาของคนไทยมาตลอด ปีที่แล้วก็ระบาดหนัก หนำซ้ำตอนนี้มีการนำโรคซิกา ซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลก

“สำหรับเรื่องโรคระบาดจากยุงนั้น เบื้องต้นผมได้หารือกับทางรัฐมนตรีว่าการ สธ.ของสิงคโปร์ พม่า ลาว และกลับมาคุยกับกรมควบคุมโรค ทำให้ทราบว่า ซิกาเป็นโรคประจำถิ่น แต่ความรุนแรงยังน้อยกว่าไข้เลือดออก โดยซิกา อาการจะมีไข้ผื่น มีเชื้ออยู่ในเลือดประมาณ 3-4 วัน แต่ปกติโรคจะหายเองประมาณ 7 วัน โดยที่ต้องกังวลคือ มีภาวะแทรกซ้อนต่อหญิงตั้งครรภ์ และอาจสัมพันธกับอาการทางประสาท สมอง ซึ่งน้อยมาก อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ที่ 19 กันยายนนี้จะมีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการ สธ. อาเซียนและจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องแหล่านี้ด้วยเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ซิกาของอาเซียน” นพ.ปิยะสกล

รัฐมนตรีว่าการสธ. กล่าวอีกว่า ซิกามีในภูมิภาคอาเซียนมานานแล้ว และมีความแตกต่างจากสายพันธุ์ลาตินอเมริกา ที่ผ่านมา ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่เคยผิดข้อมูล หลังจากมีข่าวจากบราซิล ไทยก็เริ่มเก็บข้อมูล พบว่ามีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 279 ราย และเป็นเพียงแค่ 7 วันก็หาย ขณะนี้ที่ได้รับรายงานว่าพบในผู้ป่วยเพียง 23 ราย และจะหายใน 7 วันหลังป่วย ไม่จำเป็นต้องกักตัวเพราะเชื้ออยู่ในร่างกายเพียง 2-3 วันเท่านั้น แค่ต้องระวังอย่าให้ยุงกัดเพราะจะแพร่เชื้อต่อ

“ยุงลายคือสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันกำจัดให้หมดไป กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลประกาศให้ช่วยกันกำจัดยุงลายด้วยมาตรการ 3 เก็บ เก็บแหล่งน้ำ เก็บบ้าน เก็บรอบบ้าน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ พูดมากี่ปีแล่ว มีแล้วก็พูดๆ และส่งเจ้าหน้าที่ไปตามแหล่งที่ระบาดรอบรัศมี 100 เมตร แต่ก็ยังป้องกันไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน บ้านของเราเอง ก็ต้องดูแลไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยิ่งในกทม. การที่เจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครสาธารณสุขจะเข้าไปดูแลค่อนข้างยาก ก็ต้องช่วยกันดู ซึ่งที่พูดออกไปว่าหากมีลูกน้ำยุงลายจะเอาผิดทางกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงกฎหมายมีอยู่แล้ว ในมาตรา 74 ของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ระบุว่า แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ ท้องถิ่นต้องดูแล ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตาม ซึ่งไม่ได้เพิ่งมีกฎหมาย แต่มีมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่มีการนำมาใช้” นพ.ปิยะสกล กล่า

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะต้องมีการใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด ตรวจจับปรับหรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าว ใจจริงไม่ได้ต้องการจับปรับ แต่อยากให้ทุกคนช่วยกันให้มากที่สุด ดำเนินมาตรการ 3 เก็บภายในบ้าน โดยหากเจ้าหน้าที่มาตรวจและพบลูกน้ำยุงลายก็จะสั่งให้ดำเนินการกำจัดภายใน 7 วัน จากนั้น 1 เดือนจะมาตรวจสอบหากยังไม่ดีขึ้นก็จะมีมาตรการปรับ แต่ก็จะมีกฎระเบียบของท้องถิ่นเองด้วยเช่นกัน

“ผมเห็นว่า ทุกคนต้องร่วมกันช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ไม่ใช่พอผมพูดมาตรการนี้ ไม่พอใจไม่ว่า แต่มาด่าถ้อยคำรุนแรง การด่าแบบนี้ยุงลายไม่ลดลง ถ้าช่วยได้ก็จะลด 3 โรค คือ ซิกา ไข้เลือดออก และชิคุณกุนยา ที่ผ่านมามเรามีกรรมการระดับจังหวัด มีแอพพลิเคชั่นตรวจลูกน้ำยุงลายของคร. คือ พิชิตลูกน้ำยุงลาย อยู่แล้ว เจ้าหน้าที่รับทราบหมดแล้ว เหลือแค่ประชาชนร่วมมือกัน ถ้าร่วมมือกันจะเห็นเลยว่าไข้เลือดออก ซิกาลดลงแน่ๆ อย่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตสาทร ตอนพบผู้ป่วยแรกๆ ไปตรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายพบเกินร้อยละ 50 ตอนนี้เหลือศูนย์แล้วหลังจากที่ทุกคนช่วยกัน”นพ.ปิยะสกล กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. กล่าวว่า กฎกระทรวงมีอยู่แล้ว โดยให้แหล่งเพาะพันธ์ุลูกน้ำยุงลายเป็นเหตุรำคาญ ให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ควบคุมมีการดำเนินการมาหลายปี ยุงไม่ได้อยู่แค่ในบ้านของตัวเอง แต่ไปบ้านอื่นด้วย ดังนั้นต้องช่วยกันดูแล อัตราโทษเจอครั้งแรกให้ท้องถิ่นสั่งการให้ทำลายลูกน้ำให้หมดภายใน 7 วัน หลังจากนั้นไปตรวจอีกหากยังพบอยู่ก็ระวางโทษเป็นทัณฑ์บน 1 เดือน แต่หากท้องถิ่นมีข้อบัญญัติที่ออกตามพ.ร.บ.ก็จะปรับหนักขึ้น คือ 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี 11 จังหวัด 250 ท้องถิ่นที่ออกข้อบังคับล้อตามพ.ร.บ.ออกมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image