“ดวงฤทธิ์” จ่อยื่น “นายกสภาสถาปนิก” จี้เร่งประชุมถกปม “วิมานพระอินทร์” ปรามลอก-คงไว้ซึ่งเกียรติวิชาชีพ

ดวงฤทธิ์ บุนนาค (ภาพจากประชาชาติออนไลน์)

คืบหน้ากรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อาคารพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานครหรือ “วิมานพระอินทร์” ซึ่งเป็นจุดหมายตาหรือแลนด์มาร์กของแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าลอกเลียนแบบจากโมเดลอาคารที่เคยมีโครงการจะก่อนสร้างในกรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย ชื่อว่า “เดอะ คริสตัล ไอแลนด์” ออกแบบโดย นายนอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชาวอังกฤษหรือไม่ กระทั่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งรับมอบหมายงานจากกระทรวงมหาดไทยและกทม. นำโดยรศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ออกมาแถลงข่าวว่าไม่ได้ลอกแบบมาอย่างแน่นอน แต่ยินดีจะถอดแบบดังกล่าวออกจากรายงานที่เตรียมส่งมอบให้ กทม.ในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ย. นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ได้เผยแพร่ร่างจดหมายถึงนายกสภาสถาปนิก เรื่องขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเรื่องการอนุญาตให้สถาบันการศึกษาเข้ามารับงานออกแบบโดยไม่ได้เป็นนิติบุคคลวิชาชีพ และมีความผิดตามข้อบังคับ และขอแก้ไขข้อบังคับจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อให้สถาปนิกผู้ได้รับใบประกอบวิชาชีพมีความผิดทางจรรยาบรรณหากมีเจตนา ลอกเลียนแบบงานออกแบบของสถาปนิกอื่นอย่างชัดเจน โดยยกตัวอย่างกรณี “วิมานพระอินทร์”

นายดวงฤทธิ์ ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากกรณีซึ่งสังคมให้ความสนใจ สืบเนื่องจากการที่มีการใช้ชื่อสถาบันการศึกษาเข้าไปรับงานออกแบบซึ่งมีขนาด ใหญ่ของภาครัฐ จึงเกิดข้อสงสัยว่าการรับงานดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาปนิกที่กำหนดให้นิติบุคคลที่รับงานให้บริการทางสถาปัตยกรรมนั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากสภาสถาปนิกเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับการปฏิบัติวิชาชีพ และเป็นการป้องกันประโยชน์ให้กับสาธารณะ ในกรณีที่สถาบันการศึกษาเหล่านั้นไม่มีศักยภาพในการให้บริการทางวิชาชีพ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายให้กับสาธารณะได้ จึงมีความประสงค์ในการแปรญัตติเพื่อให้ที่ประชุมลงมติร่วมกับกรรมการสภาฯในประเด็นดังกล่าว รวมถึงขอให้มีการประชุมเรื่องความคล้ายคลึงของวิมานพระอินทร์กับผลงานต่างชาติ เพื่อคงไว้ซึ่งเกียรติของวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทยอีกด้วย

ข้อความส่วนหนึ่งในจดหมาย มีดังนี้

Advertisement

“….ในกรณีที่มีการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยผู้ ปฏิบัติวิชาชีพที่ได้รับอนุญาตจากสภาสถาปนิก โดยมีความละม้ายคล้ายเคียงกับผลงานออกแบบของสถาปนิกอื่นในต่างประเทศ โดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่มีความเหมือนจนไม่สามารถแยกได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีของการออกแบบ ‘วิมานพระอินทร์’ ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะนั้น สมาชิกมีความประสงค์ให้มีการเพิ่มเติมข้อความในข้อบังคับจรรยาบรรณสถาปนิก ให้มีสามารถการนำกรณีในลักษณะนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกรรมการ จรรยาบรรณเพื่อวินิจฉัยความผิดได้ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้สถาปนิกไทยมีการลอกเลียนแบบรูปแบบของอาคารที่ออกแบบไว้แล้วใดๆในรูปแบบองค์รวมโดยเจตนา และคงไว้ซึ่งเกียรติของวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทยต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image