ส่อง… กม.แก้ปัญหาตั้งครรภ์ ป้องโจ๋”ท้องไม่พร้อม”

หลังจากที่เครือข่ายผู้หญิงและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและสตรี มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. … ในหลายรัฐบาล แต่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมักต้องเจอเหตุสะดุดทำให้ไม่สามารถผลักดันออกมาประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

ล่าสุด การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบกฎหมายฉบับดังกล่าว และจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ทว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีประเด็นสำคัญอย่างไรบางนั้น นพ.เจตน์อธิบายว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นประโยชน์สำหรับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมีเนื้อหาสำคัญเป็นการรวมนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานในทิศทางเดียวกัน จากเดิมที่แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำงานโดยไม่มีเป้าหมายร่วมกัน ถือว่าเป็นประโยชน์เพราะจะมีการสอนเพศวิถีศึกษาให้แก่วัยรุ่น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ โดยมีการบัญญัติคำว่า วัยรุ่น คืออายุ 10-20 ปีบริบูรณ์

สาระสำคัญประกอบด้วย 1.สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศวิถีศึกษาและให้การปรึกษาเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมทั้งจัดให้มีระบบการดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่อง ตลอดจนจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเหมาะสม

Advertisement

2.สถานบริการต้องให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ จัดให้มีบริการให้การปรึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างเหมาะสม

3.สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และจัดหรือสนับสนุนให้เข้าถึงบริการให้การปรึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างเหมาะสม

4.ให้มีการจัดสวัสดิการสังคมเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

Advertisement

และ 5.ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นพ.เจตน์อธิบายด้วยว่า นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนเด็กและเยาวชน รวม 17 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอธิบดีกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการ คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่นของประเทศ

จะเด็จ เชาวน์วิไล
จะเด็จ เชาวน์วิไล

ขณะที่ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ สนช.มีความหวังดี ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ซึ่ง พ.ร.บ.นี้เปิดโอกาสให้เข้าไปให้ความรู้แก่วัยรุ่นเอง แต่ข้อเสียก็คือ พ.ร.บ.ฉบับนี้เน้นให้ความสนใจเพียงแค่วัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาการตั้งครรภ์โดยขาดความพร้อมเกิดขึ้นเยอะมากกับวัยทำงานอายุไม่เกิน 30 ปี มีไม่น้อยที่เข้ามาปรึกษากับทางมูลนิธิฯ คนที่ทำงานด้านนี้จึงต้องคิดให้มากขึ้น เพราะปัญหานี้หลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นเพราะทัศนคติเรื่องชายเป็นใหญ่ในสังคม ผู้หญิงถูกสอนให้ยอมผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายก็ถูกสอนให้คิดว่าตัวเองใหญ่กว่า บวกกับทัศนคติเรื่องใจแตก ที่สังคมต่างตีตราคนกลุ่มนี้ ทำให้เสียโอกาสต่างๆ ในชีวิตอีกมาก

“ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น เกิดขึ้นเพราะเด็กๆ ได้รับผลกระทบจากทัศนคติที่ผิดๆ ของผู้ใหญ่เอง เมื่อเกิดปัญหาเด็กจะถูกหาว่าใจแตก ทำให้ผู้หญิงเสียโอกาสหลายอย่าง ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้พัฒนาอาชีพต่อ มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ มันเป็นวงกว้างแบบที่ไม่อาจฉีดยาแล้วหายเหมือนโรคต่างๆ ได้

หลักสำคัญคือเมื่อ พ.ร.บ.เปิดโอกาสเข้าไปสอนในรั้วสถานศึกษาแล้ว ต้องไม่สอนแค่เรื่องเพศศึกษา เรื่องการป้องกัน การใช้ถุงยางเท่านั้น แต่ต้องนำเอาหลักสูตรประชาสังคมที่เคยประสบความสำเร็จเข้าไปใช้ ต้องสอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ให้รู้จักเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย สอนให้เพศหญิงรู้จักปฏิเสธได้ สอนในสิ่งที่เป็นจริงไม่ใช่ท่องจำ และต้องเปลี่ยนทัศนคติของภาครัฐ ผู้บริหาร และครูบาอาจารย์เองว่าการสอนเรื่องนี้ไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก เพื่อให้แก้ปัญหาในภาพใหญ่ทั้งหมดได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย” นายจะเด็จกล่าว

จิตติมา ภาณุเตชะ
จิตติมา ภาณุเตชะ

ด้าน น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง หรือ สคส. กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าออกมาตอบโจทย์สถานการณ์เรื่องท้องในวัยรุ่นที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ได้ดี แต่จำเป็นต้องจับตาว่าคณะกรรมการทำงานเรื่องนี้จะขับเคลื่อนได้มากแค่ไหน อย่าง ม.5

ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดไว้ว่าวัยรุ่นต้องเข้าถึงเรื่องสุขภาพทางเพศ เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ และมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูล การบริการทางเพศ และเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ ได้เช่นถุงยางอนามัย หรืออุปกรณ์คุมกำเนิดที่ปลอดภัย จากหน่วยงานต่างๆ ที่บูรณาการกัน เช่น กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสม ปลอดภัยให้เด็ก กระทรวงสาธารณสุขต้องให้การบริการผ่านสถานพยาบาลที่เป็นมิตร ละเอียดอ่อน และเป็นความลับ ขณะที่กระทรวง พม.ต้องจัดระบบสวัสดิการช่วยเหลือ เยียวยาพ่อแม่วัยรุ่น ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ปฏิบัติตามก็มีบทลงโทษตามกฎหมายชัดเจน

น.ส.จิตติมากล่าวอีกว่า ความจริงแล้วภาคประชาสังคมด้านผู้หญิงผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งจะครอบคลุมทุกด้านอย่างวัยทอง ความหลากหลายทางเพศ ท้องวัยรุ่น สิทธิทางเพศต่างๆ อยู่ในฉบับเดียว แต่อาจจะมีภาพกว้างมากเกินไปทำให้ 10 ปีที่ผ่านมาไม่ขับเคลื่อนมากนัก เมื่อไม่มีช่องทางเสนอกฎหมายจากประชาชนก็เลยหยุดไป จนกระทั่ง สนช.นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับวัยรุ่นนี้ออกมา ใช้เวลาเพียงแค่ปีกว่าก็สำเร็จ อาจเพราะมีฐานความเข้าใจจาก พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์อยู่

“พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างน้อยก็จะช่วยเหลือเรื่องท้องวัยรุ่นได้มากขึ้น แต่ต้องติดตามต่อไปว่าคณะกรรมการนี้จะผลักดันได้มากแค่ไหน” น.ส.จิตติมากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image