ก.แรงงานร่วมญี่ปุ่นเสริมจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ มร. ชิโร ซาโดชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมการเปิดสัมมนาความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น เรื่อง การจ้างงานผู้สูงอายุ (Japan-Thailand Collaboration Seminar on Employment for the Elderly) ซึ่งจัดโดย กระทรวงแรงงาน JICA และสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โดยมีทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ไทย-ญี่ปุ่น) รวมทั้งภาคประชาสังคมกว่า 200 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวขอบคุณญี่ปุ่นที่ขยายความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคี โดยนำประสบการณ์ในการดำเนินการและพัฒนาในเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง มาแบ่งปันองค์ความรู้เชิงนโยบาย และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาแนวทางในการดำเนินงานของประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้กลไก “ประชารัฐ” เพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบความรวดเร็วในการเพิ่มของผู้สูงอายุของประเทศในภูมิภาคเอเชียแล้ว ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ โดยมีประเทศบรูไน เป็นอันดับ 3 และประเทศเวียดนามเป็นอันดับ 4 ดังนั้นไทยต้องมีมาตรการรองรับที่จะสร้างความมั่นคงให้ผู้สูงอายุในสังคมได้ดีและมีคุณค่า พัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุให้มีงานทำ มีรายได้ และสวัสดิการที่ได้รับการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ผู้สูงอายุให้เหมาะสมตามวัย โดยเฉพาะการเสริมสร้างการรวมกลุ่มและองค์กรชุมชนผู้สูงอายุ จะทำให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบตนเองด้วยการพัฒนาทางเลือกในหลายรูปแบบ

ด้านนายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ชื่นชมประเทศไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งพร้อมสนับสนุนในแนวทางต่าง ๆ โดยใช้ประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแล้วตั้งแต่ปี 2537 ประการสำคัญจะสามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่ง ทั้งนี้ ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันประชากรรวมของประเทศไทย จำนวน 64.8 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10,014,705 คน คิดเป็นร้อยละ 14.9 และในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 20 ของประชากรรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image