เหยื่อ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก ร้องศาลคัดค้านให้ประกัน หวั่นชิ่ง-ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

เหยื่อเฮียประสิทธิ์ เจียวก๊ก สุดทน“ร้องศาลอาญาไม่ให้ ประกัน“ประสิทธิ์-กิตติศักดิ์” หวั่นหลบหนี-ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน จ่อร้องผบ.ทบ. “ปม”หมอทหารหญิงเอี่ยวด้วย โวย “ดีเอสไอ” 4 เดือนคดีไม่คืบ

เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 11 สิงหาคม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสมิษฐ์ มหาปิยศิลป์ อายุ 56 ปี พร้อมกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอกลงทุนกับบริษัท เอ็มกรุ๊ป และเครือข่ายของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานบริษัท เหนือโลก จำกัด ประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อขอคัดค้านการให้ประกันตัวนายประสิทธิ์ เจียวก๊กและนายกิตติศักดิ์ เย็นนานนท์ รองประธานฯ จำเลยคดีฉ้อโกงประชาชน มูลค่ากว่าพันล้านบาท

นายสมิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่ยื่นขอคัดค้านการประกันตัวนายประสิทธิ์ กับนายกิตติศักดิ์ เพราะหากทั้งสอง ได้รับการประกันตัว มีโอกาสที่จะหลบหนี เนื่องจากมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท รวมถึงคดีมีอัตราโทษสูง ทั้งสองอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้ และเคยข่มขู่พยาน ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทที่จะมาเป็นพยานให้กับผู้เสียหาย โดยใช้วาจาหยาบคาย ซึ่งตนมีคลิปประกอบด้วย นอกจากนี้ทั้งสอง คน ยังมีเครือข่ายกับบุคคลมีสี และผู้มีอำนาจด้วย มีพฤติกรรมเข้าข่ายฟอกเงิน ฉ้อโกงประชาชนชัดเจน หากได้รับการประกันตัวมีโอกาสหลบหนี โยกย้าย ถ่ายเททรัพย์สิน ขณะนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ได้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และตามอายัดทรัพย์ รวมทั้งพบพยานหลักฐานว่านายประสิทธิ์ มีพฤติกรรมฟอกเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท โดยซื้อหุ้นใหญ่ ในบมจ.พุทธธรรมประกันภัย ใส่ชื่อ พ.ต.พญ.อมราภรณ์ วิเศษสุข หนึ่งในจำเลย ซึ่งทางเราจะสอบถามไปยัง ผบ.ทบ และได้โอนขายหุ้น เป็นเงิน 80 ล้านบาท กลับเข้าบริษัท เข้าข่ายฟอกเงินอย่างชัดเจน

นอกจากนี้นายประสิทธิ์ ยังตั้ง บจก.เอ็มโกลด์ฟิวเจอร์ ใส่ชื่อบุคคลมีสี และใส่ชื่ออาจารย์โรงเรียนแห่งหนึ่งที่นายประสิทธิ์ไปเรียน แล้วนำบริษัทมาหลอกลวงเพื่อให้นำบัตรเครดิตไปรูดซื้อทองคำแท่ง และนำทองคำแท่งมาขายให้นายประสิทธิ์ และสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทน ซึ่งมีผู้เสียหายหลายร้อยล้านบาท มีผู้เดือดร้อนหลายร้อยคน

Advertisement

“พวเราทนไม่ไหวแล้ว เสียหายมากมาย เดือดร้อนเหลือเกิน เขาจะอยู่อย่างสบายกันไม่ได้ ซึ่งหลังจากนี้ผมจะทำเรื่องถึงผบ.ทบ.ด้วย จึงขออย่าให้เขาได้ออกมา เพราะขณะนี้ป.ป.ง.และตำรวจกำลังตามยึด และอายัดทรัพย์พวกเขาอยู่ หากเขาออกมาได้จะสามารถเปลี่ยนแปลง หรือยักย้ายถ่ายเท เขาจะออกมาบัญชาการอะไรบางอย่าง ขณะนี้มีเงินที่เขาซุกซ่อนไม่ต่ำว่า 2-3 พันล้านบาท รวมทองคำแท่ง มีการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศแล้ว ขอให้คดีนี้เป็นตัวอย่างของประเทศไทย จับแล้วต้องอายัดทรัพย์เลย ไม่ใช่ให้เรารอ เพราะเรื่องอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 4 เดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้าอะไร พวกเรามีความกังวลมาก เพราะเรามีคลิปหลักฐานที่เขาคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบางคน ว่าสามารถช่วยเหลือได้ ครั้งนี้จะเป็นการแสดง และพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงมีจริง” นายสมิษฐ์ กล่าวตอนท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 พนักงานอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายประสิทธิ์ กับพวกรวม9รายเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ,พ.ร.บคอมพิวเตอร์ ฯ

โดยรายชื่อจำเลยทั้ง9 รายประกอบด้วย บริษัท วีเลิฟยัวแบ๊ก(ประเทศไทย)จำกัดที่ 1 น.ส.อมราภรณ์ หรือพ.ต.พญ. อมราภรณ์ วิเศษสุขที่ 2 บริษัทเหนือโลก จำกัด โดยนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้จัดการที่ 3 นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้จัดการบริษัท เหนือโลกฯ ประธานบริษัทในเครือ เอ็ม กรุ๊ป และประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน ที่ 4 นายกิตติศักดิ์ เย็นนานนท์ รองประธานฯ ที่ 5 น.ส.ณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม กรรมการผู้จัดการที่ 6 บริษัทเอ็ม โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด โดยน.ส.สิริมา เนาวรัตน์ ที่ 7 น.ส.สิริมา เนาวรัตน์ กรรมการ บริษัท ฯ ที่ 8 และ นายกิตติวัฒ์ อ่วมอารีย์ กรรมการบริษัทฯ ที่ 9 เป็นจำเลยที่ 1-9 ตามลำดับ

Advertisement

กรณีช่วงระหว่างวันที่ 27 พ.ย. 2563 ถึงวันที่ 18 เม.ย. 2564 ต่อเนื่องกันพวกจำเลย ได้บังอาจร่วมกันและแยกกันกระทำผิดต่อกฎหมาย เป็นความผิดหลายบทหลายกรรมต่างกัน โดยการหลอกลวงและแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ด้วยการโฆษณาประกาศ แพร่ข่าว ข้อความ ชักชวนด้วยวาจาแก่ประชาชน และบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปในสื่อสังคมออนไลน์ให้มาร่วมลงทุนกับพวกจำเลยในธุรกิจ ค้าทองคำสินค้าแบรนด์เนม โดยการ ซื้อ ขาย ฝากขาย ให้เช่า และบำรุงรักษาทำความสะอาด สินค้ากระเป๋าแบรนด์เนม อาทิ เช่น หลุยส์ วิตตอง, ชาแนล, แอเมส, กุชชี่ เป็นต้น มีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินตามพ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527เว็บไซด์ ในเว็ปไซต์ www.crabybrandname.com โดยจำเลยจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้

คิดเป็นอัตราร้อยละ 40.15 ถึงร้อยละ 51.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย

ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินกู้ให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ในช่วงดังกล่าว ซึ่งอยู่ที่อัตราร้อยละ 3.25ต่อปี ตามพ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523

ทั้งที่ความจริงแล้ว จำเลยทั้งเก้าไม่ได้มีเจตนานำเงินที่ได้รับจากผู้เสียหาย และประชาชน ไปลงทุนในธุรกิจซื้อ ขายทองคำ ฝากขาย ให้เช่า และบำรุงรักษาทำความสะอาด สินค้ากระเป๋าแบรนด์เนม จริง และไม่ได้ประกอบธุรกิจใดที่จะสามารถให้ผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในอัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่พวกจำเลยหลอกลวงประชาชนได้ การชักชวนให้สมัครร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เป็นเพียงอุบายเพื่อให้ได้เงินจากผู้สมัครร่วมลงทุน ไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งเก้า หรือผู้อื่น โดยที่จำเลยทั้งเก้า กับพวกรู้อยู่แล้วว่าพวกจำเลยจะนำเงินจากผู้สมัครร่วมลงทุน ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้น หรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้สมัครร่วมลงทุน โดยที่จำเลยทั้งเก้า รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้

โดยในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลดังกล่าวนั้น มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ได้เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาสมัครร่วมลงทุนทำธุรกิจกับจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าร้านชื่อ Craby Brand และได้จัดทำ www.crabybrandname.com เพื่อให้เป็นช่องทางในการเลือกสินค้าให้เช่า และชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยผู้ถูกหลอกสามารถชำระเงินได้หลายช่องทาง เช่น ชำระเงินสดโดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 ซึ่งมี จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน หรือในรูปแบบซื้อทองคำจาก จำเลยที่ 7 ซึ่งมี จำเลยที่ 8 และจำเลยที่ 9 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ซึ่งจำเลยดังกล่าวนี้ทำหน้าที่เป็นช่องทางรับเงินจากผู้เสียหายและประชาชนที่หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุน

ทั้งนี้ การหลอกลวงดังกล่าวนั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายและประชาชนทั่วไปหลงเชื่อและชำระเงินร่วมลงทุนให้จำเลยทั้งเก้าตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าวข้างต้น ได้เงินร่วมลงทุนอันเป็นการกู้ยืมเงินไปจำนวนมาก โดยเจตนาทุจริตหลายครั้ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยตามความผิด และคืนหรือชำระค่าเสียหายคืนแก่ผู้เสียหายด้วย

ศาลประทับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำอ.1842/2564 และได้สอบคำให้การแล้ว โดยจำเลยทั้งหมดแถลงให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 20 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

ส่วนนายประสิทธิ์ และนายกิตติศักดิ์ จำเลยสำคัญในคดีขณะนี้ ทั้งสองยังคงถูกคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เนื่องจากศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว สำหรับจำเลยคนอื่นๆ ได้รับการประกันตัวจากศาล โดยติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลข้อเท้า (EM) รวมทั้งปฏิบัติเงื่อนไขการประกัน อย่างเคร่งครัด อาทิ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามออกนอกพื้นที่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และต้องมารายงานตัวต่อศาลทุกครั้งตามนัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image