ห่วงไข้เลือดออกลาม รพ.สนาม ผสมโควิดยิ่งป่วยรุนแรง แนะหลักปฏิบัติสกัดยุงลาย

ห่วงไข้เลือดออกผสมโควิด ยิ่งทำป่วยรุนแรง กรมควบคุมโรคแนะปฏิบัติสกัดยุงลายใน รพ.สนามทั่วไทย

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกคำแนะแนวปฏิบัติป้องกันยุงลายในโรงพยาบาล (รพ.) สนามทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ยุงลายกัดบุคลากรและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในสถานที่ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าหากมีการป่วยซ้ำซ้อน อาจทำให้อาการผู้ป่วยโควิด-19 รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเน้นให้ทุกแห่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย ให้ผู้ป่วยทายากันยุงทุก 6 ชั่วโมง (ชม.) หรือนอนในมุ้งและเฝ้าระวังผู้ป่วย รายที่สงสัยให้ตรวจเลือดด้วยชุดทดสอบไข้เลือดออกทันที

ทั้งนี้ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.สนาม มากขึ้น โดยรูปแบบของ รพ.สนาม มีทั้งอยู่ในอาคารถาวร และสร้างเป็นอาคารชั่วคราว จึงอาจมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะยุงลายเพิ่มขึ้น เช่น ภาชนะใส่น้ำในห้องน้ำ/ห้องสุขา ภาชนะบรรจุอาหารต่างๆ เช่นแก้วน้ำพลาสติก หรือกล่องโฟม เป็นต้น ประกอบกับในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ถูกยุงลายกัดและได้รับเชื้อไข้เลือดออก หรือโรคอื่นที่นำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือทรุดลงอย่างรวดเร็ว การรักษาจะมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากยิ่งขึ้น และอาจเสียชีวิตได้

“จึงได้จัดทำโครงการ รพ.สนามปลอดยุงลาย เพื่อเป็นแนวปฏิบัติป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ไม่ให้เกิดซ้ำเติมกับผู้ป่วยโรคโควิด-19” รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ด้าน พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติของ รพ.สนาม ในการป้องกันยุงลาย แบ่งเป็น 2 ประการ 1.ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานและผู้ป่วยโรคโควิด-19 ขอแนะนำให้ปฎิบัติ ดังนี้ 1.1 ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ปิดแขนขาให้มิดชิด เพื่อลดโอกาสโดนยุงกัด 1.2 ทายากันยุงทุก 6 ชั่วโมง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด 1.3 ทิ้งภาชนะบรรจุอาหารและแก้วน้ำลงถังขยะ โดยเทน้ำหรือน้ำแข็งออกก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่

Advertisement

2.ใช้สำหรับผู้บริหาร รพ.สนาม มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติ 7 ข้อ ดังนี้ 2.1ให้มีการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยภายนอกอาคารผู้ป่วยอย่างน้อย 1 วัน ก่อนเริ่มรับผู้ป่วย และทุก 2 สัปดาห์หลังรับผู้ป่วย หรือตามความจำเป็น ด้วยเครื่องพ่นชนิดฝอยละออง (ULV) โดยผู้ชำนาญการด้านการพ่นสารเคมี 2.2 กำหนดบุคลากรดำเนินการสำรวจและกำจัดภาชนะขังน้ำทั้งภายในและภายนอกอาคารในรัศมี 100 เมตร อย่างน้อย 1 วันก่อนเริ่มรับผู้ป่วย และทุกสัปดาห์หลังรับผู้ป่วย หรืออาจใช้ทรายกำจัดลูกน้ำใส่ในภาชนะใส่น้ำใช้ 2.3 จัดบริเวณที่พักผู้ป่วยให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2.4 ปิดฝาถังขยะให้มิดชิดและกำจัดขยะทุกวัน เพื่อไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

2.5 จัดหายาทากันยุงให้ผู้ป่วยและบุคลากรใน รพ.สนาม และใช้อย่างระมัดระวัง โดยผลิตภัณฑ์ยาทากันยุงกลุ่มตะไคร้หอมห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผลิตภัณฑ์สารเคมีทั่วไปห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ 2.6 ในกรณีที่ รพ.สนามไม่มีมุ้งลวดหรือไม่มีเครื่องปรับอากาศ ให้แจกมุ้งให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันยุงกัด และ 2.7 เฝ้าระวังผู้ป่วยที่อาจเป็นโรคไข้เลือดออกร่วมกับโรคโควิด-19 หากพบผู้ป่วยสงสัย เช่น มีไข้สูงลอยติดต่อกันหลายวัน มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หน้าแดง ให้แพทย์ประเมินอาการและเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็ว เอ็นเอสวัน แอนติเจน เทสต์ คิท (NS1 antigen test kit) เพื่อตรวจว่าติดเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่ เพื่อแพทย์จะสามารถให้การดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคติดต่อนำโดยแมลง โทร 0-2590-3103-5 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image