จัดซื้อ ‘เอทีเค’ 8.5 ล้านชุดยังวุ่น ‘สปสช.’ ย้ำยึดข้อสั่งการนายกฯ ต้องมี WHO รับรอง

จัดซื้อ ‘เอทีเค’ 8.5 ล้านชุดยังวุ่น ‘สปสช.’ ย้ำยึดข้อสั่งการนายกฯ ต้องมี WHO รับรอง

วันที่ 21 สิงหาคม ติดตามการจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือเอทีเค 8.5 ล้านชิ้น จะลงเอยอย่างไรและเมื่อไร หลังมีข้อถกเถียงกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเจ้าของงบประมาณกว่า 1 พันล้านบาทเพื่อจัดซื้อชุดเอทีเค 8.5 ล้านชุด โดยให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการแทน ต่อมาทาง อภ.เปิดประมูลและบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ชนะการประมูลเป็นชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits: ATK) ภายใต้ชื่อ SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากประเทศจีน ในราคาชุดละ 70 บาท

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

แต่ทางชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านว่าคุณภาพต่ำและไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แม้ทางบริษัทออสท์แลนด์ รวมทั้ง อภ.และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะออกมายืนยันว่าชุดตรวจเอทีเคของเล่อปู๋ มีประสิทธิภาพ และได้รับการรับรองในยุโรปหลายประเทศ

ต่อมามีการระบุว่าในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม มีข้อสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ทุกหน่วยงานที่จะจัดซื้อเอทีเค จัดซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจาก อย.และ WHO ทำให้ล่าสุด อภ.ยังไม่มีการลงนามจัดซื้อเอทีเคกับผู้ชนะการประมูลแต่อย่างใด

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเอทีเคว่า ข้อสั่งการของนายกฯ ถือว่าเป็นคำสั่งที่หน่วยงานราชการต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ซึ่งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ทางโรงพยาบาล (รพ.) ราชวิถี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์แทน สปสช. ได้หารือเข้ามาถึงกรณีดังกล่าว ทาง สปสช.จึงแจ้งไปว่าหาก อภ.ยืนยันว่าการประมูลดังกล่าวถูกต้อง และจะลงนามจัดซื้อ แต่ในขั้นตอนการตรวจรับงานซึ่งเป็นหน้าที่ของ รพ.ราชวิถี ก็จะต้องพิจารณาโดยยึดถือข้อสั่งการของนายกฯด้วย

“ในส่วนของ สปสช.ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจ แม้ว่างบประมาณเป็นของ สปสช. แต่ในทางปฏิบัติการจัดซื้อต้องมอบหมายให้ รพ.ราชวิถี และ อภ. ดำเนินการแทน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช.” นพ.จเด็จกล่าว

ADVERTISMENT

เมื่อถามว่า มีแนวโน้ม อภ.จะลงนามจัดซื้อเอทีเคล็อตนี้หรือไม่ เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่ในความเห็น สปสช.นั้น ได้แจ้งไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เอทีเคถือว่ามีความจำเป็นต้องนำมาให้ประชาชนใช้กันอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรง มีผู้ติดเชื้อทั้งประเทศวันละหลักหมื่นคน

ด้าน รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการให้ร้านขายยาเป็นจุดกระจายเอทีเค 8.5 ล้านชิ้นให้ประชาชนว่า ร้านขายยาที่จะเป็นจุดกระจายชุดตรวจเอทีเคนั้นจะต้องเป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่มีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ รวมไปถึงต้องขึ้นทะเบียนกับ สปสช.ด้วย สำหรับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจเอทีเค ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปในที่ที่มีผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ที่มีอาการคล้ายโรคโควิด-19 เช่น ไอ มีไข้ เป็นต้น

“เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงเราไม่ได้อยากให้ออกมาเดินกับผู้อื่น เนื่องจากเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ควรจะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ฉะนั้น สปสช.จึงมีระบบสำหรับกลุ่มเสี่ยงเพื่อขึ้นทะเบียนก่อน เมื่อขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้น สปสช.จะแจกจ่ายรายชื่อไปตามร้านยาใกล้บ้าน หรือตามความจำนงของผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยร้านขายยาจะติดต่อไปยังกลุ่มเสี่ยงเพื่อซักถามอาการ หรือข้อมูลเพื่อยืนยันว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงผ่านทางโทรศัพท์ หรือไลน์แอพพลิเคชั่น จากนั้นจะดำเนินการส่งชุดตรวจเอทีเคไปให้ที่บ้าน พร้อมคำแนะนำและอธิบายให้เข้าใจถึงวิธีการตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง” รศ.ภญ.จิราพรกล่าว และว่า ระหว่างรอชุดตรวจเอทีเค ก็มีการเตรียมงานหลังบ้านให้เรียบร้อย เมื่อไรที่ชุดตรวจมา ก็จะบริหารจัดการได้ด้วยระบบที่โปร่งใส ฉะนั้น จะมีระบบการขึ้นทะเบียน และระบบการป้อนข้อมูลจะทำให้ทราบว่าชุดตรวจใช้ไปเท่าไร ต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image