เสียงจาก ‘ผู้ว่าฯปู-บิ๊กแจ๊ส-หมอสุภัทร-ผอ.รพ.สนาม มธ.’ ชี้ระบบราชการอุ้ยอ้าย สู้ไม่ทันสงครามโควิด

เสียงจาก ‘ผู้ว่าฯปู-บิ๊กแจ๊ส-หมอสุภัทร-ผอ.รพ.สนาม มธ.’ ชี้ระบบราชการอุ้ยอ้าย สู้ไม่ทันสงครามโควิด

ผู้ว่าฯปูชี้กฎระเบียบทำแก้โควิดช้า

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ฟังเสียงจากคนด่านหน้าสะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและดูแลผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งต้องเจอปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะระบบราชการที่มีขั้นตอนมากมาย จนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานมหกรรมสุขภาพออนไลน์ Healthcare 2021 วัคซีนประเทศไทย #เราจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน เป็นวันที่สามผ่านแพลตฟอร์มสื่อในเครือมติชน ทั้งเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชนทีวี โดยมีกิจกรรม Health Talk Special หัวข้อ “เรื่องเล่าคนด่านหน้า เมื่อเสี้ยววินาทีคือชีวิต” นำโดยนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาคร พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อใหญ่ พยายามแยกคนติดเชื้อให้ออกมาจากคนปกติ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแต่ก็ถูกต่อต้าน และจากการลงพื้นที่ไปให้กำลังใจประชาชน ทำให้ตัวเองติดเชื้อจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชถึง 82 วัน แล้วยังมีเอฟเฟ็กต์ตามมาอีก

Advertisement

“ปัญหาเรื่องโควิดที่เห็นชัดเจนก็คือการตอบสนองหรือการแก้ไขที่ไม่ทันการ เช่น ความต้องการวัคซีนที่มีมาก นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาด้านระเบียบขั้นตอน ความยุ่งยากในการรับมือแก้ปัญหา หรือระบบที่ไม่ใช่ช้าเพียงหนึ่งก้าวแต่ช้าไปหลายก้าว อะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ควรต้องมาก่อน ส่วนระเบียบนั้นเอาไว้ทีหลัง เรื่องความเป็นความตายของประชาชนต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง” นายวีระศักดิ์กล่าว และว่า บางสิ่งบางอย่างต้องยอมรับให้ได้ก่อน วันนี้เราต้องช่วยกันก้าวข้ามระเบียบไปก่อน ถ้าไม่ทำลัดขั้นตอนไม่มีการดำเนินการที่เร่งรัดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ต้องเข้าใจว่าโควิดไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

“บิ๊กแจ๊ส” ซัด รบ.ไม่ทันสงครามไวรัส

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า จ.ปทุมธานีติดกรุงเทพฯ มีนิคมฯนวนคร ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และมีชุมชนตามคลองต่างๆ ช่วงที่เริ่มระบาดก็พยายามทำทุกอย่าง ทำให้ตลาดพรพัฒน์เปิดได้เร็วที่สุด หรือช่วงที่เริ่มติดเยอะ ก็เร่งหาชุดตรวจแรพิดเทสต์ซึ่งรู้ผลภายใน 3-5 นาที มีความแม่นยำ 98.2% หากตรวจแล้วผลเป็นบวกก็ขอให้อยู่บ้าน นำรถไปฉีดพ่นยาให้ที่บ้าน มีการส่งสวอปซ้ำ แล้วส่งอาหาร จากนั้นเดินหน้าหาวัคซีน เวลานี้ได้มา 55,500 โดส เร่งฉีดให้ได้วันละ 10,000 คน เริ่มฉีดได้แล้ว 10 วัน

“ความล่าช้าที่ไม่ทันไวรัสเพราะการจัดซื้อจัดจ้างนั้นช้า ใช้วิธีการแบบเดิมๆ ออกทีโออาร์ มีการตรวจรับ แต่ไวรัสมันแพร่ทุกวัน ทำไมรัฐบาลที่มีอำนาจออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำไมไม่รีบจัดซื้อจัดจ้างให้ทันสงครามไวรัส เวลานี้เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน” นายก อบจ.กล่าว

Advertisement

รพ.สนาม มธ.หนัก “ผู้ป่วย-ศพ” ล้น

ผศ.นพ.ฉัตรชัยกล่าวว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ตั้งเมื่อปีที่แล้ว สิ่งที่เริ่มทำเวลานี้คือพัฒนาศักยภาพในการดูแลคนไข้หนัก มีไอซียูความดันลบ ขยายเตียง ช่วงที่ตลาดพรพัฒน์ติดยังไม่เกินศักยภาพ ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกันไม่ใช่ตั้งโรงพยาบาลสนามแล้วจะจบในตัวเอง ทั้งหมดคือคนไข้โควิด เมื่อสีเขียวแย่ก็ต้องย้ายมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม การทำงานเชื่อมประสานกันในภาพใหญ่ไม่เห็นชัด

ผศ.นพ.ฉัตรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ มีปัญหาบุคลากร ตู้ใช้เก็บร่างไม่เพียงพอ ปัญหาโควิดเกินศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย ในแง่การดูแลจริงๆ ถือว่าเต็มศักยภาพ มีคนติดใหม่เยอะ คนไข้เสียชีวิตเยอะ ที่ต้องการได้รับการดูแลในโรงพยาบาลเยอะ บางทีก็ต้องตัดสินใจ คนไข้ที่อยู่ไอซียูแล้วหมดหวังก็ต้องพูดคุยกับญาติว่าต้องดูแลประคับประคอง แล้วพอเสียชีวิตก็เกิดปัญหาญาติไม่สามารถเอาคนไข้กลับบ้านได้ต้องฝากไว้ ก็ล้นอีก

“อีกปัญหาคือบุคลากรเริ่มมีการติดเชื้อจากที่ทำงาน เมื่อถึงจุดที่เป็นการติดเชื้อในชุมชน ก็ยิ่งทำให้การติดเชื้อของบุคลากรเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น การจัดสรรวัคซีนก็ไม่มีความชัดเจน ถึงเวลาจริงก็ไม่มา การจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้ระบบราชการเป็นปัญหามากๆ แม้จะบอกว่าใช้เร่งด่วนได้ แต่ก็ติดตรวจสอบ อีกส่วนสำคัญเวลานี้ที่ทำให้เห็นแสงสว่างคือการรับบริจาคอย่างเตียงสนาม” ผศ.นพ.ฉัตรชัยกล่าว

“หมอสุภัทร” ย้ำระบบราชการอุ้ยอ้าย

ด้าน นพ.สุภัทรกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกที่กรุงเทพฯ รอบนี้เป็นครั้งที่ 3 พบปัญหาวัคซีนเข้าไม่ถึง ยกตัวอย่างชุมชนริมคลองสามเสน ทีมได้วัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว ฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชนนี้ประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นคนสูงอายุ ทั้งพิการและติดเตียง จากนั้นเป็นชุมชนลาดกระบัง มีคนมาตรวจโควิดซึ่งเขารู้ก่อนหน้าแล้วว่าติดด้วยการตรวจจาก ATK แต่มาขอตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ค่อยไหวแล้วมาขอตรวจเพื่อจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ วันนั้นตรวจประมาณ 1,300 คน พบว่าติดโควิดประมาณ 200 คน

สรุปชัดเจนว่าด่านหน้า แม้แต่เพื่อนๆ ที่เป็นแพทย์ด่านหน้าในกรุงเทพฯ ก็รับไม่ไหวเพราะเตียงเต็ม คนเข้าไม่ถึงการบริการและการสวอบ เข้าไม่ถึงยาฟาวิพิราเวียร์เนื่องจากเข้าไม่ถึงการตรวจ เข้าไม่ถึงวัคซีน โดยความเหลื่อมล้ำคือโจทย์สำคัญของปัญหา ต่างจังหวัดก็มีปัญหาบ้าง แต่ยังไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ

นพ.สุภัทรกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอจากปัญหาที่ได้พบเจอนั้น คิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะระบบราชการเป็นอุปสรรค ขณะที่การระบาดและการกลายพันธุ์มีความรวดเร็ว แต่ระบบราชการอุ้ยอ้าย เชื่องช้า โรงพยาบาลรัฐต้องได้งบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเราอยากได้งบประมาณที่เป็นเงินสดแต่ก็ไม่ได้ ต้องเขียนเป็นโครงการ ต้องจัดซื้อตามรายการที่เคยเสนอเป็นโครงการ ขณะที่เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้มีรายจ่ายฉุกเฉิน เช่น พัดลม ห้องน้ำมีไม่เพียงพอต้องเสริม แต่ไม่มีงบประมาณเงินสด จึงต้องขอบริจาคจากประชาชนหรือพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่น ซึ่งเขาก็ช่วยบริจาคเพราะอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น

ชี้ทางรอดต้องกระจายอำนาจ

“ถ้าจะรอดต้องกระจายอำนาจ ต้องได้วัคซีนที่มีคุณภาพให้เร็วที่สุด แม้แต่ชุด ATK ก็ต้องได้คุณภาพ เพราะถ้าไม่ได้คุณภาพ ยกตัวอย่างปัญหาเช่น ติดเชื้อโควิดแล้วแต่ตรวจแล้วผลออกมาว่าไม่ติด ก็มีโอกาสไปกระจายเชื้อให้คนอื่นต่อ” นพ.สุภัทรกล่าว

ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า ฝากถึงประชาชนคนไทยว่า ตนเชื่อในพลังของพี่น้องคนไทย นอกจากจะต้องขยันล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ฯลฯ สิ่งสำคัญที่สุดคือพลังที่อยู่ในข้างใน เพราะเคยเห็นพลังเหล่านี้มาแล้วจากการที่มีจิตอาสามาช่วยที่โรงพยาบาล มีคนช่วยบริจาค ปัญหาของโควิดไม่เพียงการแพร่ระบาด ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเศรษฐกิจที่มีความสาหัส อยากเห็นคนไทยช่วยกัน เช่น นายจ้างก็ต้องดูแลพนักงานให้ดีที่สุด สถานการณ์จะสาหัสอย่างไรก็ต้องช่วย อย่าปล่อยให้เขาต้องไม่มีข้าวกิน หรือเพื่อนบ้านที่ติดโควิดแล้วต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็อาจโทรไปถามไถ่ว่าเขาขาดหรือต้องการอะไรบ้าง เพราะอาจมีคนแก่ที่รอความช่วยเหลืออยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image