บีบหัวใจ! หมออารักษ์ เผยปฏิบัติการกู้ชีพ แม่ตั้งครรภ์ติดโควิด ลูกวิกฤต ทุกนาทีแข่งกับเวลา

บีบหัวใจ! หมออารักษ์ เผยปฏิบัติการกู้ชีพ แม่ตั้งครรภ์ติดโควิด ลูกวิกฤต ทุกนาทีต้องแข่งกับเวลา

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงการกู้ชีพ 2 แม่ลูก ที่แม่ป่วยโควิด และทารกนั้นอยู่ในภาวะวิกฤต โดยระบุว่า

“ปฏิบัติการกู้ชีพ 2 ชีวิตแม่ลูก หญิงตั้งครรภ์ติดโควิด
ทารกในครรภ์อยู่ในภาวะวิกฤต

เหตุเกิดเมื่อวานนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นมีผู้ป่วยโควิดตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ อาการไม่ดี ทั้งแม่และทารกในครรภ์ จึงไปที่ตึกคลอดทันที เมื่อไปถึงมีทีมแพทย์ พยาบาลชุดใหญ่ รออยู่ประกอบด้วย สูติแพทย์ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาลช่วยผ่าตัด พยาบาลวิสัญญี ครบทีม อยู่ในชุดปฏิบัติการเตรียมพร้อมช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิดที่ตั้งครรภ์และทารกอยู่ในภาวะวิกฤต

ด้วยมีผู้ป่วยอายุ 27 ปี ติดเชื้อโควิด ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์ มานอนรักษาได้ 2 วัน มีอาการปอดบวม เชื้อลงปอด สัญญาณชีพแย่ลง ความดันต่ำ วัดค่าออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงจาก 98 เหลือ 96, 90 และ 86 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ได้ติดตามสัญญาณชีพ ทารกในครรภ์ด้วยเครื่องตรวจจับการเต้นของหัวใจทารก และการดิ้นของเด็ก พบว่า หัวใจทารกเต้นเร็วมากกว่า 200 ครั้งต่อนาที เด็กดิ้นลดลง เป็นสัญญาณไม่ดี

Advertisement

เด็กอาจขาดอ็อกซิเจนจากแม่ไปด้วย หากทิ้งไว้ต่อไปโอกาสเสียชีวิตสูงมาก ในขณะที่ทารกในครรภ์อายุเพียงแค่ 34 สัปดาห์ การเอาทารกออกมาก่อนกำหนด ก็ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทารกที่ยังไม่ครบกำหนด ระบบการหายใจยังไม่ปกติเหมือนทารกที่ตั้งครรภ์ครบกำหนด

การดมยาสลบผู้ป่วยที่ติดโควิดแล้วปอดบวมก็มีความเสี่ยงอย่างมาก

ในระหว่างหารือได้สั่งการให้ทีม หมอดมยาสลบและพยาบาลช่วยผ่าตัดที่กักตัวจากการผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้ ขึ้นมาเตรียมพร้อมทันที ที่ห้องผ่าตัด ในระหว่างนั้นพยาบาลห้องคลอดเข้ามารายงานว่า การเต้นของหัวใจทารกในครรภ์เริ่มลดลงและเบา ทีมจึงร่วมตัดสินใจทันทีว่าต้องให้เด็กรอด ทางรอดคือการผ่าตัดเอาเด็กออกทันที โดยไม่ชักช้าและแม่ก็มีโอกาสรอดด้วย

Advertisement

ไม่เช่นนั้นจะเสียชีวิตทั้งแม่และลูกในครรภ์ ดังข่าวที่ปรากฏหลายราย

ทีมจึงจัดการทันที ย้ายผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด ที่อยู่ติดกัน เตรียมรับเด็กช่วยฟื้นคืนชีพ หลังจากผู้ป่วยขึ้นเตียงผ่าตัด หมอวิสัญญี เริ่มวางยา ความดันของแม่ก็เริ่มต่ำลง หมอให้โหลดน้ำเกลือเพื่อคุมความดันให้คงที่ ให้ยากระตุ้นความดัน

ทีมสูติแพทย์ เดินหน้าผ่าตัดเอาเด็กออกภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที หมอเด็กเตรียมรับเด็ก เด็กออกมาไม่ร้องต้องช่วยชีวิต ให้ออกซิเจน ดูดน้ำคร่ำทางเดินหายใจ บีบแอมบูช่วยหายใจ อยู่ประมาณ 3 นาที จึงเริ่มร้อง “อุแว้” เสียงแรกออกมา

เสียงแรกที่ได้ยิน คือเสียงแห่งความปีติของคนที่อยู่ในห้องผ่าตัดกว่า 15 คน ที่บีบคั้นหัวใจมาก่อนหน้านี้ ในระหว่างผ่าตัดต้องปิดเครื่องปรับอากาศชั่วคราว เพราะไม่ต้องการให้อุณภูมิทารกต่ำเกินไป ทุกคนอยู่ในชุด พีพีอี ที่ร้อนอบอ้าว ผ่าตัดแข่งกับเวลา จบปฏิบัติการเย็บมดลูก ตรวจสอบจุดเลือดออก เช็กอุปกรณ์ผ่าตัดภายในช่องท้องไม่ให้ตกค้าง จนเย็บแผลปิดภายนอก ในเวลาเพียง 15 นาที ถือเป็นวินาทีชีวิต ปฏิบัติการที่รวดเร็วมาก

เมื่อช่วยทารกจนอยู่ในระดับพ้นวิกฤต จึงรีบย้ายเข้าห้องอภิบาลทารกแรกคลอดในภาวะวิกฤต แรงดันลบ ที่ตึกกุมารเวชกรรม ส่วนแม่ แยกย้ายเข้าดูแลผู้ป่วยวิกฤตห้องแรงดันลบตึกโควิด ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจ ปรับระดับสัญญานชีพ ให้คงที่

เช้าวันนี้ แม่ยังคงใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่วัดค่าอ็อกซิเจนในเลือด ได้ 94 เปอร์เซนต์ เนื่องจากเอาทารกออกไปแล้วจึงทำให้ลดภาระการใช้อ็อกซิเจนของแม่ลง สัญญานชีพเริ่มคงที่ เป็นสัญญานที่ดี อยู่ภายใต้การดูแลของอายุรแพทย์ สูติแพทย์และทีมพยาบาลหอผู้ป่วยวิกฤติโควิดอย่างใกล้ชิด

ส่วนทารกยังคงต้องดูแลใกล้ชิด ให้อ็อกซิเจน ใส่สายสวนทางสายสะดือเพื่อให้สารน้ำ ให้ยาต้านเชื้อ และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ระวังภาวะการหายใจล้มเหลวเนื่อจากคลอดก่อนกำหนดและติดเชื้อในกระแสเลือด

เป็นอีกหนึ่งปฏิบัติการที่เสี่ยงทั้งผู้ป่วยถึง 2 ชีวิตและทีมแพทย์ พยาบาล ที่ถูกกักตัวอยู่แล้ว เรียกมาปฏิบัติการอีกครั้ง การปฏิบัติการครั้งนี้ ต้องระดมทีมถึง 30 คนมาช่วยในปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ได้ดีที่สุด แต่พร้อมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

ต่อจากนี้ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้ทั้งคู่ปลอดภัย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image