สธ.เตรียมชงศบค.เคาะ นั่งกินอาหารในร้าน 50% เข้มหลักปฏิบัติ ฉีดวัคซีน-โชว์ผลตรวจ

สธ.รับหลักการเปิดห้าง นั่งกินในร้าน 50% ชง ศบค.อนุมัติ 27 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมผู้บริหารระดับสูง ร่วมหารือกับตัวแทน 9 สมาคมธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมคลินิกเอกชน สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย กลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมสนามกอล์ฟไทย และสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย และสมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งเข้ายื่นหนังสือ ข้อเรียกร้องเพื่อขอผ่อนคลายมาตรการให้สามารถประกอบธุรกิจไปได้ภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ของ สธ.

นายอนุทิน กล่าวว่า พร้อมรับฟังปัญหาและหารือกัน เพื่อหาทางออกให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ทุกคนตระหนักในปัญหาต่างๆ ยืนยันว่ารัฐบาลทุกคนไม่ได้มีความยินดีปรีดาใดๆ เลย ตรงกันข้ามกับมีการปวดหัวทุกวัน พยายามที่จะหาทางออกให้กับผู้ประกอบการทุกคนทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ ในการประชุมแต่ละครั้งพยายามหาจุดสมดุลระหว่างความเจ็บปวดทางธุรกิจและความปลอดภัยทางสุขภาพจากการติดเชื้อโควิด -19 แต่ยอมรับว่า หลายอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด -19 ที่เข้ามาคุกคามเราจนถึงทุกวันนี้ ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดีที่เข้าใจ ถึงแม้ว่าจะประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ

ด้านนางศุภานวิต เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการสมาคมศูนย์การค้าไทย กล่าวว่า แนวทางการขอเปิดธุรกิจที่สมาคมศูนย์การค้าเสนอมาแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 คือ วันที่ 1 ก.ย. ระยะที่ 2 วันที่ 15 ก.ย. และระยะที่ 3 วันที่ 30 ก.ย. โดยแผนระยะที่ 1 ได้แก่ เปิดธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มนั่งรับประทานที่ร้าน ร้อยละ 50 และเปิดธุรกิจก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน คลินิกทันตกรรม ร้านนวด สปาเฉพาะนวดเท้า คลินิกเวชกรรม ธุรกิจเสริมสวยงดเว้นบริเวณใบหน้า ธุรกิจไอทีอุปกรณ์สื่อสารและไฟฟ้า อาคารสำนักงาน ธุรกิจบริการ เช่น ล้างรถ ซ่อมกุญแจ ไปรษณีย์ เบ็ดเตล็ด เช่น ร้านตัดแว่น สนามกอล์ฟ และกีฬากลางแจ้ง

Advertisement

ระยะที่ 2 เป็นการเปิดธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งรับประทานที่ร้าน ร้อยละ 75 ธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และ ธุรกิจสถาบันการศึกษา

และ ระยะที่ 3 อาจจะเร็วกว่ากำหนดก็ได้คือ ธุรกิจร้านอาหารแบบนั่งรับประทานเต็มรูปแบบ 100% ธุรกิจประกอบการสุขภาพและสปา เครื่องเล่นเด็ก และผู้ใหญ่ ธุรกิจฟิตเนส และออกกำลำลังกายในร่ม ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และห้องจัดเลี้ยง

“ทั้งนี้ มาตรการปฏิบัติเพื่อรองรับการดำเนินการอย่างปลอดภัย อาทิ ผู้มาใช้บริการต้องได้รับการฉีดวัคซีน และมีการทำสว็อบเทสต์ ดังนั้น ขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาปลดล็อก และระบุเป็นแผนและแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม และการสร้างความเชื่อมั่นทั้งภาครัฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ศูนย์การค้าทุกแห่งประสงค์จะปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขโดยเคร่งครัด และถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ศูนย์การค้า สนามกอล์ฟ สนามกีฬากลางแจ้ง สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ” นางศุภานวิต กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือร่วมกันกินเวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยภายหลังการประชุม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ได้แถลงสั้นๆ ว่า สธ. รับในหลักการ โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคดำเนินการในรายละเอียด ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบในมาตรการผ่อนคลายต่างๆ

“ทางผู้ประกอบการฯ ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ สธ.พิจารณาผ่อนคลายให้ร้านอาหารต่างๆ สามารถเปิดให้บริการได้ ซึ่งตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยดูท่าทีแล้วผ่อนคลายลง แต่การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็ยังต้องสอบถาม ศบค. ก่อน ซึ่งจะเสนอวันที่ 27 ส.ค.นี้ แต่มีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ที่จะให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ประมาณ ร้อยละ 50 รวมถึงสถานประกอบการกลางแจ้ง สถานออกกำลังกายต่างๆ ก็อาจจะได้มีการผ่อนคลายให้ต่อไป“ นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

และว่า สิ่งสำคัญคือ สธ.อยากจะให้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อฯ จึงได้เสนอมาตรการองค์กร ผู้ประกอบการทั้งหลายจัดระบบป้องกันการติดเชื้อ ขอให้พื้นที่บริการทั้งหมดต้องปลอดโควิด-19 (covid free) ช่วยกันคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ในเข้าไปในสถานประกอบการแต่ละแห่ง

ปลัด สธ. กล่าวว่า เบื้องต้นมีหลักปฏิบัติ 3 ข้อ 2 ข้อแรก เป็นของผู้ประกอบการ คือ จัดสภาพแวดล้อม ให้มีระยะห่าง ระบบระบายอากาศดี สถานที่สะอาดปลอดภัย นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากร จะต้องส่งเสริมให้มีการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน 2 เข็ม ซึ่งทราบว่า บางส่วนมีการฉีดไปแล้ว ส่วนที่เหลือมีจำนวนไม่มาก สธ.จะดูแลให้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการระมัดระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ โดยให้มีการตรวจสกรีนด้วยชุดตรวจเอทีเคเป็นระยะ

ซึ่งในส่วนนี้ ทางลูกค้าต้องปฏิบัติด้วยคือ ตรวจ หรือแสดงตนว่าไม่ได้เป็นคนผู้ติดเชื้อ คือ ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ซึ่งมีข้อมูลในหมอพร้อมอยู่แล้ว หรือมีการตรวจเอทีเค หรือผลตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) หรือเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อไปแล้ว 1 เดือน ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการสำหรับสถานประกอบการในระบบปิด ส่วนระบบเปิด น่าจะผ่อนปรนได้มากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงระยะเวลาผ่อนปรน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ให้รอ ศบค. พิจารณา ถ้าอนุญาตให้มีการผ่อนปรนได้ คาดว่าการผ่อนปรนกิจการเหล่านี้น่าจะอยู่ในระยะเวลาราวๆ เดียวกัน ส่วนในรายละเอียดนั้น กรมควบคุมโรคจะมีการพิจารณาอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image